วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจชอร์ต!Q4เช็คเด้งพุ่งทำสถิติ นายแบงก์หวั่นเอสเอ็มอีทนพิษศก.ซึม3เดือนไม่ไหว




แบงก์ชาติเผย ธ.ค. ยอดเช็คเด้งพุ่ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล ดันไตรมาส 4/56 ทำสถิติสูงสุดรอบปีครึ่ง "นายแบงก์" ผวาเช็คเด้งระบาดหนัก หวั่นการเมืองยืด-เศรษฐกิจซึมนาน 2-3 เดือน ฉุดเอสเอ็มอีทรุดแน่ เสี่ยงลามถึงรายใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ว่า ระบบการชำระเงินกรณีการเรียกเก็บเงินตามเช็ค จากทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ภายในจังหวัดในเขตภูมิภาค และเช็คข้ามเขตจังหวัด (B/C) พบว่าในเดือน ธ.ค. 56 มีทั้งปริมาณและมูลค่าเช็คคืนไม่มีเงิน (เช็คเด้ง) ปรับเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าเช็คเด้งอยู่ที่ 1.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มี 8.24 พันล้านบาท ส่วนปริมาณเช็คเด้งเพิ่มขึ้นเป็น 6.65 หมื่นรายการ จากเดือนก่อนหน้าที่ 6.21 หมื่นรายการ ส่งผลให้ไตรมาส 4/56 มียอดเช็คเด้งถึง 2.86 หมื่นล้านบาท ทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา หรือนับจากไตรมาส 2/55 ที่มียอดเช็คเด้งอยู่ที่ 2.90 หมื่นล้านบาท ส่วนปริมาณเช็คเด้งมีจำนวน 1.97 แสนรายการ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 2.05 แสนรายการ ซึ่งเขตที่มีเช็คเด้งมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มียอดเช็คเด้งถึง 1.87 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับภูมิภาคที่มียอดเช็คเด้ง 4.93 พันล้านบาท ขณะที่เช็คเด้งข้ามเขตจังหวัดอยู่ที่ 4.88 พันล้านบาท



นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและถูกกระทบซ้ำด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อ เริ่มกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีรุนแรงขึ้นตามลำดับ เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้กระทั่งเงินสดขาดมือ

แม้ระยะหลังธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการต่อลมหายใจให้แก่ผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะหากไม่มีเงินเข้ามาชำระหนี้เก่าเลย การเบิกสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนธุรกิจในรอบถัดไปก็อาจทำได้ลำบากขึ้น หรือหากบางรายที่ใช้วงเงินจนเต็ม 100% จะน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอีกไม่นานอาการอาจถึงขั้นโคม่าได้ ดังนั้น ในระยะนี้จึงเริ่มเห็นปริมาณเช็คเด้งเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็ก

"ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นซีรีส์ต่อเนื่องตั้งแต่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี กระทบเรื่อยมา ทำให้การบริโภคชะลอตัวจนยอดขายสินค้าตกต่ำ และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางการเมือง เงินสดในมือขาด ไม่มีเงินจ่ายหนี้ สินเชื่อหมุนเวียนก็เบิกไม่ได้ เช็คเด้งก็เลยระบาดหนักอีกครั้ง ปัญหาเริ่มน่ากลัวมากขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ใน 3 เดือน ปัญหาเรื่องเช็คเด้งคงลามไปยังผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ต่อไป"

อย่างไรก็ดี จากการเข้าไปสอบถามลูกค้าพบว่าการขายสินค้าทำได้ยากขึ้น หากสถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน ขณะที่การลงทุนใหม่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนไม่เกิด อาจทำให้สถานการณ์ด้านยอดขายของผู้ประกอบการเข้าสู่วิกฤตได้

สอดคล้องกับนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการเกาะติดสถานการณ์เช็คเด้งอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องขึ้นและไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างกันได้

ที่มา prachachat.net

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา