วันที่ 28 ม.ค. ผูัสื่อข่าวรายงานการหารือร่วมระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใหัมีการหารือถึงการออก พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำเสนอแนะให้นายกฯและประธาน กกต.หารือร่วมกัน ที่ห้อง เทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี เมื่อเวลา13.57 น. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายบริหารจัดการเลือกตั้ง ได้เดินทางมาถึงสโมสรทหารบก เป็นคนแรก จากนั้นประมาณ 5 นาที นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. พร้อมคณะ ประกอบด้วยนายบุญส่ง น้อยโสภณ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้เดินทางมาถึง โดยนายศุภชัย กล่าวเพียงสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้น่าจะได้ข้อสรุป
จากนั้น เวลา 14.05 น.นายศุภชัย ได้เข้าไปหารือเป็นการส่วนตัวกับนายกฯ เป็นเวลา 10 นาที ก่อนที่นายกฯและนายศุภชัย จะเข้าประชุมที่มีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายรออยู่ก่อนแล้ว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผอ.ศรส. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมายรัฐบาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกกต.
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาพูดคุยหารือแก้ปัญหา หลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำเสนอแนะออกมา เพื่อที่สถานการณ์จะได้ไม่เกิดความรุนแรง และการเลือกตั้งจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการทำงานต่างๆ รัฐบาลก็พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของกกต.เพื่อปฏิบัติหน้าที่ และหลังมีพ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้ง ก็ได้มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งหมด 53 พรรค และมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยมี 66 จังหวัดสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างไม่มีปัญหา มีเพียง 10 จังหวัดและกทม.ที่ยังมีปัญหาการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนมีการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง วันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ กกต. และในส่วนของรัฐบาลจะได้มีการหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอเสนอความคิดเห็นต่อ กกต.เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้ว่า ในพื้นที่ของหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ขอเสนอให้มีการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ สำหรับหน่วยเลือกตั้งที่ไม่อาจจัดลงคะแนนเลือกตั้งได้ รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผูัสมัครรับเลือกตั้งด้วย เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินการต่อไปได้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฏหมาย และในพื้นที่ที่มีปัญหาก็อาจจะต้องมีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในรายพื้นที่ ส่วนการสนับสนุนด้านบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และการดูแลต่างๆ รัฐบาลยินดีรับฟัง และสนับสนุนตามที่กกต.ร้องขอ อย่างไรก็ตามรัฐบาลขอรับฟังจากประธานและกกต.เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
รบ. - กกต. สรุป ไม่เลื่อนเลือกตั้ง "พงศ์เทพ" ยัน รบ.พร้อมร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วอน ผู้ชุมนุม อย่าละเมิดสิทธิคนอื่น ด้าน "สมชัย" แจงปัญหาหายิบ
ต่อมาเวลา 17.15 น. ที่สโมสรกองทัพบก ภายหลังการประชุม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ทาง กกต.เสนอการจัดการเลือกตั้งตามกำหนดอาจจะมีปัญหาหลายประการ ในขณะที่รัฐบาลเห็นว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่ได้แก้ปัญหา หรือทำให้ปัญหาหมดไป ไม่มีอะไรรับประกันว่าเลื่อนไปแล้วทุกอย่างจะยุติ และเกรงว่าจะมีปัญหาและเสียหายย่ิงกว่า การประเมินสถานการณ์ของกกต.และรัฐบาล ยังแตกต่างกันอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องจัดการเลือกตั้งตามกำหนด ในพ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ต่อไป โดยกกต.จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฏหมาย และพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการทำงานของ กกต.อย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาต่างๆที่ ทาง กกต. ได้แจ้งมา อาทิ เรื่องกปน. นั้น ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะแก้ปัญหา โดยให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ และฝ่ายปกครอง ของกระทรวงมหาดไทย ให้การสนับสนุนจำนวนคนได้ เป็นต้น แม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่ กกต. ก็ให้ความร่วมมืออย่างดีและสัญญาว่าจะพยายามจัดการเลือกตั้งให้ดีที่สุด และอยากสื่อสารไปยังบุคคลที่มาร่วมชุมนุมว่าให้เคารพสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพิ้นฐานของมนุษย์
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกต้ัง กล่าวว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลื่อนเลือกต้ังเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ต้องปรึกษากันระหว่าง กกต. และนายกฯ หมายความหากทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไปต่อได้ ก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ได้ โดยวันนี้ได้มีการประชุม เพื่อนำข้อเสนอทั้งสองฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน กกต.ได้เสนอให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหาทั้งก่อนวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ก็มีปัญหาในเรื่องของกรรมการประจำหน่วยที่ลาออก เนื่องจากถูกดดันจากผู้ชุมนุม สะท้อนว่าบางหน่วยไม่สามารถจะจัดการเลือกตั้งได้ บัตรเลือกตั้งที่บางส่วนยังส่งไปไม่ถึงหน่วยเลือกตั้ง เพราะติดอยู่ที่ไปรษณีย์ คืออ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.ชุมพร และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็น 3 ไปรษณีย์หลักที่รวมบัตรเลือกต้ังแบบบัญชีรายชื่อ ที่จะส่งไปยังหน่วยเลือกต้ังใน 14 จังหวัดภาคใต้ หากนำบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อออกมาไม่ได้ก็จะเลือกตั้งไม่ได้ ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็อาจจะมีปัญหาในการจัดส่งได้
นายสมชัย กล่าวอีกว่า อีกทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 26 ม.ค. ก็มีปัญหาในเรื่องที่มีผู้ชุมนุมขัดขวางการเลือกต้ัง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในเมื่อกรณีนี้เกิดขึ้น ก็เป็นห่วงในวันเลือกต้ังจริง วันที่ 2 ก.พ.ที่จะเกิดเหตุการณ์ขัดขวางเช่นนี้อีก และอาจจะเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ส่ิงที่ กกต. เห็นตรงกันกับรัฐบาล คือ จะยึดตามกฎหมายเป็นหลัก หลีกเลี่ยงความรุนแรง โดยจะกำชับผู้อำนวยการเขตเลือกต้ังว่า ถ้าหากเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ก็ให้สั่งยุติการลงคะแนนได้ทันที หากหน่วยเลือกต้ังใดปิดการลงคะแนนแล้ว แม้เหตุการณ์ความวุ่นวายสงบก็เปิดใหม่ไม่ได้ เพราะเป็นข้อจำกัดในข้อกฎหมาย ดังนั้นหน้าที่ของ กกต. และรัฐบาล คืออำนวยความสะดวกในการจัดเลือกต้ังให้เกิดความสงบและเรียบร้อย ขณะที่หลังการเลือกตั้ง เราเสนอว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า จะประกาศรายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 125 คน ไม่ได้ เพราะต้องได้คะแนนเลือกตั้งครบจากทุกหน่วย เราได้ชี้แจงให้รัฐบาลทราบว่า จะสามารถจัดการเลือกต้ังให้ครบทุกเขต ได้ภายใน 4-6 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยคาดว่าน่าจะหลังจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 4 เดือน
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนส.ส.แบ่งเขต 375 คน ก็ยังมีปัญหาว่าผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ในวันที่ 26 ม.ค. ยังเหลือผู้ใช้สิทธิ์ไม่ได้อีก 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ กกต. จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อเหตุการณ์สงบลง คาดว่าจะเป็นปลายเดือน ก.พ. หรือนานกว่านั้นก็ได้ ซึ่งหากสำเร็จคะแนนก็จะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกต้ัง เพื่อนำไปรวมกับคะแนนเลือกต้ังวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้นหมายความว่า วันที่ 2 ก.พ. ก็จะยังไม่มีการประกาศผล ส.ส.แบบเขตได้ ทั้งนี้รัฐบาลกับ กกต. ยังไม่สามารถความเห็นตรงกันได้ในการกำหนดวันเลือกต้ังใหม่ ดังน้ันพระราชกฤษฎากำหนดวันเลือกต้ัง วันที่ 2 ก.พ. จึงมีผลบังคับใช้ กกต. ก็ต้องเดินหน้าจัดการเลือกต้ังต่อไป
"การพูดคุยในวันนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น รัฐบาลจะได้เห็นถึงข้อกำจัดและความเสียหายในการเลือกต้ัง ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันที่จะช่วยสนับสนุนจัดการเลือกต้ังอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีที่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของ กกต.แล้ว และประโยคที่ผมชอบมากที่สุดคือ ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ได้พูดว่า จากนี้ไปจะไม่ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาล ในทำนองต่อว่า กกต. เพราะเข้าใจว่า กกต. ทำงานอย่างเต็มที่"นายสมชัยกล่าว
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณี 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัครว่า กกต. จะดำเนินการรับสมัครใหม่ แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาและข้อแตกต่างจากความคิดว่า การกำหนดให้มีการรับสมัครใหม่น้ัน จะให้ออกเป็นประกาศของกกต. หรือให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่ง กกต. ก็ต้องไปหารือกับรัฐบาลอีกคร้ังว่าจะดำเนินการแบบใด แต่คาดว่าจะใช้เวลา 2 - 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร ก็ต้องมีการเลือกต้ัง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในวันที่ 2 ก.พ. แต่ก็ต้องดูว่าจะสามารถนำบัตรเลือกต้ังออกจากไปรษณีย์ทั้ง 3 แห่ง คือ ทุ่งสง ชุมพร และหาดใหญ่ ได้หรือไม่
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์