วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ยูเครนยอมถอน ก.ม.ควบคุมฝูงชน

ยูเครนยอมถอน ก.ม.ควบคุมฝูงชน


ผลของการเจรจาระหว่างประธานาธิบดียูเครน และแกนนำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุด ปรากฏว่า รัฐบาลยูเครนยอมถอนกฎหมายควบคุมฝูงชน ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ที่กลุ่มผู้ประท้วงมองว่า ไม่เป็นธรรม ขณะที่ หนึ่งในแกนนำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของประธานาธิบดียูเครน ส่งผลให้วิกฤตการเมืองในยูเครนยังคงตึงเครียดอย่างหนัก
 
นายวิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครน เตรียมถอนกฎหมายควบคุมฝูงชน ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ชุมนุมประท้วงยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อมากว่า 2 เดือนแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันยังมีรายงานว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลยูเครนในครั้งนี้ ได้กระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ขณะที่ การเจรจาระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับประธานาธิบดียานูโควิช เมื่อคืนที่ผ่านมาก็ดูจะไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก เมื่อนายอาร์เซนี ยัทเซนยุค หนึ่งในแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่านายยานูโควิช จะยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาลก็ตาม
 
แม้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะต้องการให้มีการยกเลิกกฎหมายควบคุมฝูงชนดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดในตอนนี้ ก็คือการที่นายยานูโควิช ต้องลาออกจากตำแหน่งแต่เพียงสถานเดียวเท่านั้น ขณะที่ เมื่อวานที่ผ่านมา นางโอเลนา ลูคาช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของยูเครน ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า อาจมีการประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หากผู้ชุมนุมยังไม่ยอมออกไปจากอาคารสำนักงานของกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากผู้ชุมนุมได้บุกยึดสถานที่ดังกล่าวตั้งแต่ 2 วันก่อน และได้นำหิมะบรรจุถุงกระสอบมาวางปิดกั้นทางเข้า-ออกทั้งหมดด้วย 
 
กฎหมายควบคุมฝูงชนที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย รวมถึงผู้ที่สวมหน้ากากและหมวกกันน็อคได้ พร้อมกับการห้ามเดินขบวนชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะ และห้ามการจัดขบวนชุมนุมที่มียานพาหนะมากกว่า 5 คันขึ้นไป ซึ่งหลังจากที่นายยานูโควิช ได้เข้าหารือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมื่อวานนี้ เบื้องต้น ทางรัฐบาลได้ตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงข้อบังคับบางข้อ เช่น การอนุญาตให้ผู้ชุมนุมสามารถกางเตนท์ที่พักบนท้องถนน รวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ทำผิดในคดีเล็กน้อย เช่น การกล่าวให้ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น 
 
ทางด้านของนางแคทเธอรีน แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ก็เตรียมเดินทางเยือนประเทศยูเครนในวันนี้ เพื่อหารือกับฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยนางแอชตันได้แสดงความกังวลถึงข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ล่าสุด รัฐบาลยูเครนได้ยืนยันว่า ยังไม่มีแนวทางในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ การประท้วงในยูเครนเริ่มต้นขึ้นเมื่อนายยานูโควิช ตัดสินใจถอนการลงนามในสนธิสัญญาการค้ากับสหภาพยุโรป แต่หันไปลงนามด้านการค้ามูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 493,000 ล้านบาท กับทางการรัสเซียแทน สร้างความไม่พอใจให้กับชาวยูเครนเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการให้รัฐบาลสานสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปมากกว่า การชุมนุมประท้วงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตดังกล่าว แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้งก็ตาม

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา