วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

Little Rock Nine บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นพลเมืองของคนผิวดำ




เมื่อสิทธิของเราถูกคุกคาม หนทางเดียวคือยืนหยัดเพื่อปกป้องมัน

เหตุการณ์ลิตเติ้ลร็อก คือเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในปี 1957 ซึ่งเป็นช่วงของการเรียกร้องสิทธิพลเมือง หรือ Civil Right Movement เหตุการณ์นี้เริ่มต้นมาจากที่นักเรียนผิวสีจำนวนเก้าคน ที่ถูกเรียกกว่า “Little Rock Nine” พยายามที่จะใช้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตัวเองตามรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียน Little Rock Central High School แต่ทว่าก็ถูกคนผิวขาวจำนวนมาก รวมไปถึงผู้ว่าการรัฐ Arkansas ที่สนับสนุนการแบ่งแยกสีผิว ขัดขวางการใช้สิทธิ์นั้น และพยายากีดกันไม่ให้พวกเขาเข้าไปในโรงเรียนได้

:: ความเป็นมาของเรื่องราว::

หลังจากที่ศาลฎีกา ได้ตัดสินคดีอันโด่งดังที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ อย่าง Brown v. Board of Education ส่งผลให้ การแบ่งแยกสีผิวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นเป็นการกระทำที่ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 ว่าด้วยสิทธิและความเท่าเทียมของพลเมืองทุกคน หรือพูดง่ายๆคือ ห้ามมีโรงเรียนที่แบ่งแยกสีผิวนั่นเอง

ในวันที่ 3 กันยายน 1957 หนุ่มสาวผิวสี จำนวน 9 คน เดินทางไปที่โรงเรียนของคนผิวขาวล้วน Little Rock Central High School เพื่อทำการสมัครเข้าเรียน แต่ทว่าพวกเขากลับถูกกลุ่มม็อบที่เป็นเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนผิวขาวจำนวนมาก ล้อมไว้ที่หน้าโรงเรียน พยายามขัดขวางไม่ให้พวกเขาใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุที่ว่าคนผิวสีนั้น "ไม่ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาว" และคนผิวขาวนั้นเป็นผู้ที่ถือ "ความดีสูงสุด" ไว้แต่เพียงผู้เดียว กลุ่มม๊อบตะโกนใส่พวกเขาด้วยถ้อยคำเหยียดหยามหยาบคาย และพยามเข้าทำร้ายร่างกายด้วย กระนั้นก็ตาม ผู้ว่าการรัฐ Arkansas ก็ยังสนับสนุนผู้ประท้วง โดยการสั่งให้การ์ดประจำรัฐ ขัดขวางนักเรียนชาวผิวสีเหล่านี้ไม่ให้เข้าถึงโรงเรียน กลุ่ม Little Rock Nine จึงหมดหนทาง และจำต้องยอมแพ้ในที่สุด

::คำบอกเล่า::

Elizabeth Eckford หนึ่งในนักเรียนผิวสีเก้าคน บอกเล่าเรื่องราวในภายหลังอย่างน่าสะเทือนใจว่า

“พวกเขาเข้ามาใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ มีคนตะโกนขึ้นมาว่า ‘แขวนคอมันเลย แขวนคอมันเลย’ ฉันพยายามที่จะมองหาใบหน้าที่เป็นมิตรกับฉันบ้างในหมู่คนเหล่านั้น คนที่น่าจะช่วยฉันได้ ฉันเหลือบไปเห็นใบหน้าของหญิงชราคนหนึ่ง เป็นใบหน้าอันอ่อนโยนที่ดูใจดี แต่ทว่าเมื่อฉันมองไปอีกครั้ง หญิงชราคนนั้นก็ถุยน้ำลายใส่ฉัน”

:: ช่วงเวลาแห่งการบีบคั้น::

ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ประธานาธิบดีไอน์เซนเฮาว์ ได้ทำการออกคำสั่งนำกำลังไปที่เมือง Little Rock เพื่อปกป้องเด็กนักเรียนทั้งเก้า จนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ในที่สุด แต่ทว่าพวกเขาก็ยังต้องเจอกับการกระทำอันเหยียดผิวของนักเรียนผิวขาวคนอื่นๆเหมือนเดิม เช่น การด่าทออย่างหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย Melba Pattillo ถูกน้ำกรดสาดใส่ตา และเธอเล่าว่าเธอถูกเพื่อนๆขังในห้องน้ำและพยายามเผาเธอทั้งเป็นในนั้น

::ผลกระทบ และเหตุการณ์หลังจากนั้น::

ถึงแม้ว่า นักเรียนกลุ่ม Little Rock Nine จะสามารถเข้าเรียนได้เป็นปกติ แต่ผู้ว่าการรัฐ Arkansas นั้นก็ยังยืนยันให้มีการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนเหมือนเดิม เขาได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการเลื่อนการ “ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิว” ออกไปก่อน โดยอ้างว่าการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนทันทีเลยนั้น จะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความวุ่นวายเข้าไปอีก จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ปิดโรงเรียนหลายแห่ง และมีการไล่ครูออกไปหลายคน

ในที่สุดสถานการณ์ได้คลี่คลายลงในปี 1959 หรือสองปีหลังจากเหตุการณ์ลิตเติ้ลร็อก บอร์ดบริหารการศึกษาหัวเก่าผู้นิยมการแบ่งแยกสีผิวของรัฐจำนวนสามคนได้ถูกถอดออก แทนที่ด้วยคณะกรรมการที่มีหัวสมัยใหม่ พวกเขาให้ครูที่ถูกไล่ออกกลับมาทำงานอีกครั้ง และเปิดการเรียนการสอนเป็นปกติในวันที่ 12 กันยายน 1959

ถึงแม้เหตุการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่นักเรียนผิวสีหลายคน ก็ยังคงถูกกลั่นแกล้ง และทำร้ายทุกครั้งเมื่อพยายามเดินเข้าโรงเรียนในทุกๆวัน เหตุการณ์ลิตเติ้ลร๊อก นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ที่สิทธิ และความเท่าเทียมของพลเมืองทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา จนได้รับชัยชนะในที่สุด “เพื่อสิทธิ ที่พวกเขาไม่ยอมให้ใครพรากไปได้”



รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ

ที่มาบทความ เฟซบุ๊ก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา