15 ก.ค.55 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติราษฎร์จัดแถลงข้อเสนอทางวิชาการเรื่อง "การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ" โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจนล้นห้องประชุม LT1
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยมีข้อบกพร่องสำคัญในการตั้งประเด็น ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาคือการกระทำของรัฐสภาที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลในการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ ถ้าไม่มีผล ก็ต้องยกคำร้อง เพียงแค่นี้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ศาลกลับเอาประเด็นนี้ไปไว้ในประเด็นที่ 3 แล้วตั้งประเด็นที่ 2 มาแทรกกลาง โดยไม่มีผลและตรรกะเพียงพอ
เมื่อไม่ล้มล้างการปกครองก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามได้ เป็นประเด็นง่ายๆ ที่ไม่ต้องเรียนกฎหมาย ขอเพียงเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะก็เข้าใจได้ แต่ทำไมศาลถึงตั้งประเด็นและทำแบบนี้ ผมคิดว่าด้านหนึ่งศาลก็รู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจวินิจฉัย
เมื่อศาลบอกว่าไม่ล้มล้างการปกครอง แล้วการลงมติวาระสามจะกลายเป็นการล้มล้างปกครอง เช่นนี้เป็นไปได้หรือ แต่ในประเทศนี้อะไรที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอยากเรียนว่าโดยคำวินิจฉัยนั้น จริงๆ ไม่มีผลผูกพันอะไรกับรัฐสภาเลย ต่อให้ยอมรับว่ามีเขตอำนาจ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรยอมรับแต่แรก เพราะถ้าลงมติวาระสามแต่แรกก็ไม่มีผลแล้ว เพราะจะไม่มีวัตถุแห่งการพิจารณา และแม้วันนี้จะมีการวินิจฉัยมาแบบนี้ ศาลก็บอกว่าไม่ใช่การล้มล้างการปกครองแล้วจะกลัวอะไร
มีคนบอกว่า ศาลวินิจฉัยแล้ว ผมถามว่าวินิจฉัยตรงไหน อีกอย่างการเขียนมาตรา 68 ก็เป็นปัญหา ถ้าถือตามตัวอักษรต้องสั่งระงับการกระทำ แต่คำวินิจฉัยนี้ก็ไม่มีการสั่งระงับการกระทำ จึงน่าสงสัยมากว่าเราฟังคำวินิจฉัยเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ฉะนั้นถ้าเราดูภาพทั้งหมดจาการวินิจฉัยก็จะพบว่ามันมีปัญหา
วรเจตนต์กล่าวต่อว่า เวลาที่เราเสนอเรื่องนี้ เราไม่ได้พูถึงการวินิจฉัยนี้ ไม่ใช่เรื่องคนไม่ได้อย่างใจแล้วออกมาเสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวได้ติดตามการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีคำวินิจฉัยหลายเรื่องเป็นปัญหาจริงๆ คดีปราสาทพระวิหารที่พูดเรื่องหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของไทย ศาลก็เติมคำว่า “อาจจะ” แล้วคำว่า “อาจ” นั้นมีหรือในรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคดีทำกับข้าว ถ้าลองย้อนกลับไปดูคดีนี้วินิจฉัยเรื่องความเป็นลูกจ้างก็เอาพจนานุกรมมาดู เป็นความหมายของลูกจ้างอีกแบบไม่ใช่ตามกฎหมายแรงงาน ถ้าอย่างนั้นทุกคนรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเวลาไปนั่งบรรยายรับสตางค์ก็เป็นลูกจ้างทั้งหมด แต่ผลสุดท้ายการตีความในคำวินิจฉัยนั้นก็ใช้กับคุณสมัครคนเดียวไม่ใช้กับคนอื่นในโลกอีกเลย ในวันที่ยุบพรรคพลังประชาชน มีการแถลงปิดคดี ศาลขึ้นนั่งอ่านคำวินิจฉัยเลย แล้วอ่านอย่างมีข้อผิดพลาดด้วย ถามว่าประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบเลยหรือว่าทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องหาวิธี
วรเจตน์กล่าวต่อว่า มีคนบอกว่า การยุบศาลฯ ไม่ดี เพราะเป็นการเอาเรื่องที่ไม่พอใจไปเป็นเหตุให้ยุบศาลฯ บางคนบอกให้ไปยุบนิติราษฎร์ก่อน ผมบอกได้ว่าไม่มีใครยุบได้ ถ้าจะยุบเราจะยุบกันเองเพราะเราไม่ได้เป็นองค์กรทางกฎหมาย
ประเด็นออกเสียงประชามติ ที่ว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติมา ถ้าจะแก้ก็ควรลงประชามติ โดยศาลเองก็พูดว่าอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องกลับไปหาประชามติ พูดแบบนี้ไม่ผิด แต่การปรับบทนั้นผิด เพราะว่าการร่างฯ จะกลับไปหาประชาชนเมื่อมีการยกร่างฯ เสร็จแล้ว แล้วไปทำประชามติ ประชาชนจะมีทางเลือก เปรียบเทียบกันระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 หากใครไม่ชอบฉบับเก่า ก็โหวตรับฉบับใหม่ อาจเพราะเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรศาลขาดจุดยึดโยงกับประชาชน เป็นต้น เขาก็มีสิทธิเลือกฉบับใหม่ แล้วนี่ไม่ใช่การยกอำนาจให้ สสร. ไม่กลับมาที่สภาเลย พูดไม่ถูกทั้งหมด เพราะไม่ใช่การยกอำนาจให้ สสร. มีอำนาจทำรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มากลับมาสภาก็ถูกแล้ว เพราะไปที่ประชาชนโดยตรงไม่ดีกว่ากลับมาสภาหรือ
ส่วนการแก้รายมาตรา เดี๋ยวผมแก้ทีละมาตราไปเลย แต่แก้ทุกมาตรา นี่ไม่กลับไปหาประชาชน แต่การบกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ มาตรฐานสูงกว่าอีก คือกลับไปหาประชาชนเจ้าของอำนาจ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่เข้าใจ เรื่องทีเกิดขึ้นมันไม่ควรเป็นเรื่องเลย
ส่วนปฏิกิริยาหลังคำวินิจฉัยนั้น ประชาชนไม่ควรดีใจและควรร้องไห้ เพราะศาลได้ขยายอำนาจมาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นลูกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญแต่ไปเป็นตัวควบคุมแม่ เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลบอกว่าเลิกไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ศาลเป็นองค์กรที่อยู่เหนืออำนาจขององค์กรใดๆ
ส่วนการแก้ไขนั้นมีข้อจำกัดแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น 1.ห้ามแก้ไขการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2.ห้ามแก้ไขรูปแบบของรัฐ การห้ามสองกรณีนี้ห้าม 3 เรื่อง คือ 1.ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ หมายถึงต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไป 2.ห้ามเปลี่ยนแปลงจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ แล้วมีนายกฯ ของมลรัฐแบบนี้ไม่ได้ 3.ห้ามเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบอื่น
รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้หมวดหนึ่ง หมวดทั่วไป หมวดสอง พระมหากษัตริย์ หมวดสาม สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ
แต่ร่างฯ แก้ไขนั้น ทำไปมากกว่านั้นอีกคือการห้ามแก้ไขบางหมวดทั้งหมด ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยหลักนั้นสามารถแก้ได้ ไม่มีทางเป็นการล้มล้างการปกครองได้เลย ผมจึงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง และขนาดเขียนไว้แบบนี้ยังมีคนไปยื่นศาลและศาลยังมาตรวจสอบ แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องยืนยันคือเมื่อพูดเรื่องนี้ต้องพูดจากหลักฐานที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ
ส่วนคำวินิจฉัยเรื่องประชามตินั้น เขาเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของศาล แต่เป็นหน้าที่ในทางบริหาร เราอยู่กับความไม่เป็นเหตุเป็นผลของบ้านเมืองนี้มานานจนเราคิดว่ามันเป็นเหตุเป็นผล
ส่วนข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้นมากเกินไปหรือไม่ วรเจตน์เห็นว่าไม่มากเกินไป โดยอธิบายว่า ศาลที่จำเป็นต้องมีคือศาลยุติธรรม แต่ศาลอื่นจำเป็นขนาดไม่มีแล้วจะตายไหมก็ไม่ขนาดนั้น ถ้ามีแล้วทำหน้าที่ได้ดี เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ควรจะมี แต่ถ้ามีแล้วทำได้ไม่ดี ท่านก็ตอบกันเอง
วรเจตน์กล่าวว่า อาจมีคนบอกว่าถอดถอนตุลาการก็ได้ ผมบอกว่าตอนนี้กำลังดำเนินการเข้าชื่ออยู่ ต่อให้ได้ห้าล้านสิบล้าน คนที่มีอำนาจคือ 3 ใน 5 ของวุฒิสภา แล้วครึ่งหนึ่งนั้นมาจากากรแต่งตัง ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ องคาพยพของรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มันยึดโยงอยู่กับรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มาตราที่ชัดที่สุดคือ 309 บรรดาองค์กรต่างๆ ต่อให้ศาลฯ ชุดนี้หมดวาระไป การแต่งตั้งตุลาการชุดใหม่ก็จะมาจากคนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว ซึ่งไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน
วรเจตน์กล่าวว่า หนึ่ง ผมเฝ้าดูการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญมาหลายปี สอง โดยกลไกที่จะกำหนดเลือกตัวบุคคลก็ทำได้ยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเสนอเรื่องการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งล่าสุดนี้รุนแรงกว่าคดีทุกคดีที่ผ่านมาคือได้พัฒนาอำนาจของตนเองไปถึงระดับที่เข้าไปควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียแล้ว ไปเปลี่ยนแปลงตัวบทรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เสียแล้ว ต้องหาทางออกไม่ให้มีการใช้อำนาจลักษณะนี้อีก เพราะถ้าเป็นเช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้
เมื่อเลิกศาลฯ ไปแล้ว เป็นการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยไม่ถูกขัดขวางจากองค์กรอื่นใด แต่ก็จำเป็นต้องสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาทดแทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกำหนดบทของตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีฐานที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และสำคัญที่สุด โดยเหตุที่บัดนี้เรามีประสบการณ์แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ม. 68 แบบนี้ ก็อาจจะต้องแก้ ม. 68 ด้วย และอาจจะง่ายกว่าเพื่อไม่ให้ศาลฯ ตีความแบบนี้อีก
อย่างไรก็ตามในร่างฯ ของเราจะบังคับไว้ว่าห้าม ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเข้ามาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วรเจตน์กล่าวถึงสภาพทางการเมืองที่ยังมีความสับสนมึนงงและไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป จากนี้ไปจะมีกี่หนทางและหนทางไหนน่าจะถูกต้องที่สุด
1 เปิดสภา เอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา เดินหน้าโหวตวาระสาม
2 รัฐสภายอม ปล่อยให้ร่างฯ ที่ค้างอยู่ในวาระสามตกไป อาจจะตกไปโดยเหตุใดก็ตาม เช่น เสียงโหวตไม่ถึงเกณฑ์ คือการยอมแพ้
3 ชะลอการลงมติวาระสามไป แล้วไปทำประชามติ ไปถามประชาชนเลยว่าจะแก้ทั้งฉบับไหม แล้วถ้าผ่านก็เดินหน้าโหวตวาระสามต่อไป
4 ปล่อยไปอย่างนี้ แต่เสนอร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางนิติราษฎร์ คือแก้ไข ม. 68 และแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ
5 ไม่ทำอะไรเลย แล้วเริ่มตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขเรียงรายมาตรา ซึ่งคำนวณแล้วก็อาจใช้เวลาอีกสักสองชาติภพ
วรเจตน์กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าฝ่ายการเมืองจะเลือกทางไหน เพราะเราไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเราเพียงทำหน้าที่วิชาการ ถ้าถามว่าแนวทางไหนถูกต้องที่สุด ขอตอบว่าแนวทางที่ 1 เพราะฉะนั้นถ้าเกิดรัฐสภาและรัฐบาลกล้าๆ หน่อย ก็เปิดประชุมและเดินหน้าโหวตวาระสาม ส่วนถ้าโหวตจะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็แน่นอนอยู่แล้ว ต่อจากนี้ไปใครจะทำอะไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็จะถูกร้องศาลทั้งหมด
วรเจตน์ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องหวงรัฐธรรมนูญ 2550 เขาเห็นว่า ประการแรก รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นแหล่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลจำนวนหนึ่ง ลองดูว่ามีหลายส่วนที่ได้คนที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนเลย มีการตั้งคณะกรรมการหลายๆ อย่าง เช่น ปฏิรูปกฎหมาย มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา และอำนาจของฝ่ายตุลาการในการเข้ามาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ มีการตั้งบุคคลเข้าไปสรรหาบุคคลในตำแหน่งต่างๆ อีก
รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผลประโยชน์ แต่สุดท้ายต้องยึดโยงกับประชาชนได้ และถ้าประชาชนเห็นว่าไม่ถูกก็ต้องเปลี่ยนได้ สำหรับคนที่ออกมาขวางมาค้านนั้นเกี่ยวพันกันอย่างไร ตัวผมนั้นถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับทักษิณทั้งๆ ที่ไมเคยคุยกันแม้แต่ประโยคเดียว แต่คนที่มีประโยชน์เกี่ยวพันชัดมาเที่ยวชี้หน้าคนอื่นไม่ละอายบ้างหรือ
วรเจตน์กล่าวต่อถึงเหตุผลที่บางฝ่ายหวงรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า อีกประการหนึ่งคือ สสร. ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครบ้าง ไม่อาจแน่ใจได้ว่าทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นทิศทางที่ฝ่ายที่เกี่ยวพันกับการร่างฯ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจะควบคุมได้หรือไม่ รู้เพียงอย่างเดียวกระแสประชาธิปไตยนั้นจะเบ่งบานขึ้น และรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร บรรดาองค์กรที่จะอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะได้รับผลกระทบมาก จึงเป็นเหตุให้ต้องขวางการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และอ้างการลงประชามติทั้งๆ ที่เป็นการลงมติแบบมัดมือชก เพราะประชาชนไม่รู้ว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 จะเกิดอะไร แล้วทุกคนนั้นเหมือนกับว่าพูดไปแล้วก็กลืนสิ่งที่พูดแล้วลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศ
สุดท้าย อยากจะบอกว่า ข้อโต้แย้งที่พูดอยู่เสมอคือ นี่เป็นเผด็จการข้างมาก เผด็จการรัฐสภา แล้วถามว่าคุณจะเอาเผด็จการข้างน้อยหรือ
จริงๆ การปกครองระบอบประชาธิปไตย อุดมคติคือเสียงเอกฉันท์ แต่สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ใช่เสียงข้างน้อย เมื่ออนุวัตรไปก็ต้องไปตามเสียงข้างมากแล้วให้ความคุ้มครองเสียงข้างน้อย
เขาย้ำว่า สิ่งควรทำที่สุดคือการเดินหน้าลงมติวาระสาม แต่ถ้าใจไม่ถึงก็มีข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้พิจารณา แต่ถ้าใจไม่ถึงอีก ก็แล้วแต่ท่าน
ที่มา FB
กด like และ share ร่วมกันจับตาวิกฤติบิดเบือนกฎหมาย โดยศาลที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นปรปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญ และไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐประชาธิปไตย
( โปรดอ่าน "วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ”http://prachatai.com/journal/2012/07/41566)
( โปรดอ่าน "วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ”http://prachatai.com/journal/2012/07/41566)