วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

โพลชี้คนอีสานไม่เห็นด้วยปิดกทม.-กว่า70%พร้อมใช้สิทธิ์ลต.


ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อีสานโพล) เผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับทางออกบ้านเมือง"
          
 
สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับทางออกทางการเมืองของประเทศไทย ก่อนที่กลุ่ม กปปส. จะมีการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,253 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ


ถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า กฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งในปัจจุบัน ทำให้ประเทศได้ผู้แทน (นักการเมือง) ที่มีคุณภาพสำหรับท่านหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50.5 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเพียงกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งด้อยคุณภาพ รองลงมาร้อยละ 34.5 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองมีคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ และอีกร้อยละ 15.0 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองด้อยคุณภาพเป็นส่วนใหญ่


ถามความเห็นต่อการปิดกรุงเทพฯในวันที่ 13 มกราคม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ก่อนจัดการเลือกตั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 77.6 รู้สึกไม่เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 11.6 รู้สึกเห็นด้วย และอีกร้อยละ 10.8 ไม่แน่ใจ


เมื่อถามถึงปัญหาการสมัครรับเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะทำให้ประเทศพบทางออกหรือทางตัน อันดับหนึ่งร้อยละ 42.4 รู้สึกไม่แน่ใจ รองลงมาร้อยละ 38.0 เห็นว่าเป็นทางออก และอีกร้อยละ 19.6 เห็นว่าเป็นทางตัน


สำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น มีความกังวลว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง นำไปสู่การสูญเสียหรือนองเลือด เหมือนกับที่เพิ่งเกิดขึ้นในบังคลาเทศหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.4 รู้สึกกังวลเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 25.6 รู้สึกกังวลมาก และอีกร้อยละ 19.0 ไม่รู้สึกกังวลเลย


เมื่อถามถึง แนวโน้มการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 72.4 คาดว่าจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 6.4 คาดว่าจะไม่ไปใช้สิทธิ์ และอีกร้อยละ 21.2 ยังไม่แน่ใจ


เมื่อสอบถามถึงแนวทางที่คาดว่าจะเป็นทางออกของบ้านเมือง จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลานาน แนวทางที่ 1 คือการเดินหน้าเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ กลุ่มตัวอย่างมีเสียงก้ำกึ่ง โดยร้อยละ 50.7 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ อีกร้อยละ 49.3 เห็นว่าแก้ไม่ได้ แนวทางที่ 2 คือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ตามแนวทางของ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ อีกร้อยละ 14.1 เห็นว่าแก้ปัญหาได้ แนวทางที่ 3 คือการเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ออกไปก่อน แล้วหาคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยประนีประนอม ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.8 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ และอีกร้อยละ 37.2 เห็นว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ส่วนแนวทางสุดท้าย


แนวทางที่ 4 การปฏิวัติหรือทำรัฐประหารโดยทหาร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 74.7 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ และอีกร้อยละ 25.3 เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้


ข้อเสนอแนะอื่นๆ ของชาวอีสานต่อการแก้ปัญหาบ้านเมือง ส่วนใหญ่เห็นว่าควรหยุดการชุมนุมทุกรูปแบบ และหันหน้าพูดคุยเจรจา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายยอมรับ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเช่น ให้นักการเมืองทุกฝ่ายเว้นวรรคทางการเมือง แล้วดำเนินการเลือกตั้งให้คนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ เสนอให้ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังและมีบทลงโทษที่รุนแรง และเสนอให้ทุกฝ่ายลดความเห็นแก่ตัว แล้วคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เป็นต้น

ที่มา :  News Center / thanonline/ VoiceTV 

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา