วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

รัฐประหารต้านได้ … (โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง) พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย


รัฐประหารต้านได้ … (โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง) 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

ผมก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถตีพิมพ์งานชิ้นนี้ได้ก่อนที่การรัฐประหารจะเกิดขึ้น และอยากจะขอย้ำว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย เพราะไม่เคารพความแตกต่างทางความคิดและสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นฐานของเสรีนิยมประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นการทำลายกฏหมาย และหลักนิติธรรม และที่สำคัญก็คือเป็นการนิรโทษกรรมสุดซอยแบบหนึ่งด้วย เพราะคนที่ทำรัฐประหารเมื่อทำสำเร็จเขาก็จะได้รับการยกโทษจากความผิด ซึ่งถือเป็นการคอรัปชั่นทางอำนาจแบบหนึ่งเช่นกัน

งานเขียนเรื่องของรัฐประหารในประเทศไทยนั้นมีด้วยกันหลายกลุ่มงาน อาทิงานเขียนที่อธิบายและนับจำนวนว่าการรัฐประหารในบ้านเราว่ามีมากี่ครั้งแล้ว งานเขียนที่ว่าด้วยเรื่องของข้อถกเถียงที่ว่าด้วยเรื่องของความชอบธรรมและข้ออ้างในการทำรัฐประหาร งานเขียนที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของทหารในทางการเมืองที่มีจุดสูงสุดของแต่ละครั้งนั้นด้วยการทำรัฐประหาร งานเขียนที่ว่าด้วยการตีความข้อมูลว่าใครอยู่เบื้องหลังในการทำรัฐประหารบ้าง ตลอดจนงานเขียนที่ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมการ "เขียน" รัฐประหาร(หรือออกบัตรเชิญ)โดยกลุ่มพลังต่างๆในสังคมที่อาจไม่ใช่ตัวทหารเอง

งานชิ้นนี้ของผมจะเฉพาะเจาะจงไปที่การหยิบยกเอาข้อคิดบางประการที่พบจาก "คู่มือการอบรมการต่อต้านรัฐประหาร" (Training Manual for Nonviolent Defense Against the Coup d'Etat) โดย Richard K. Taylor ที่จัดพิมพ์โดย สถาบันการไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolence International) เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๑ (เข้าถึงได้ที่ HYPERLINK "http://nonviolenceinternational.net/"http://nonviolenceinternational.net/)

ใช่ว่าการนำเอาเรื่องการต่อต้านรัฐประหารนั้นจากตำราระดับนานาชาตินั้นจะสามารถใช้ได้ในบ้านเราได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยว่าเราก็คงจะรู้ๆกันว่าการทำรัฐประหารในบ้านเราในแต่ละครั้งนั้นย่อมมีลักษณะของความเป็นไทยบางประการอยู่ในนั้น แต่ผมก็ยังคิดว่าการนำเอาเรื่องของการต่อต้านรัฐประหารที่มีการอบรมกันในระดับนานาชาติมาเล่าสู่กันฟังนั้น น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถสร้างสรรการต่อต้านรัฐประหารได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดในลักษณะของสูตรตายตัวเสมอไป (นั่นก็คืองานเขียนชิ้นนี้ผมจะไม่พูดถึง "เทคนิค" ที่ตายตัว แต่ต้องการทำให้เกิดควมเข้าใจ “ยุทธศาสตร์” ที่สำคัญที่จะสามารถกระจายตัวไปต่อต้านรัฐประหารได้) หรือคิดแต่ว่าของเรานั้นแปลกเสียจนไม่กล้าจะคิดอะไรไปทางอื่นได้

ดังนั้นจึงต้องขอเริ่มจากเรื่องแรกก่อน ก็คือ การรัฐประหารนั้นไม่ได้จะทำสำเร็จในทุกๆครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตั้งหลักกันให้ดี อย่าเพิ่งท้อแท้ เมื่อมันเกิดขึ้น หรือแม้ว่ารู้สึกว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น หรือแม้แต่มันเกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้วและดำเนินตัวเองต่อไป เราก็ต้องอย่าสูญสิ้นความหวังไปเสียหมด

เรื่องถัดมาก็คือ การรัฐประหารนั้นมีการเตรียมการ และการต่อต้านรัฐประหารก็สามารถเตรียมการได้ และทำได้เช่นกัน และที่สำคัญยิ่งก็คือ นอกจากอย่าไปท้อแท้ และเตรียมการต้านได้แล้ว การต่อต้านรัฐประหารที่สำเร็จได้หลายครั้งในโลกใบนี้ก็เกิดขึ้นได้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่เกิดความสูญเสียแล้ว ยังเกิดผลดีต่อประชาธิปไตยในระยะยาวด้วย

เรื่องที่สามก็คือ การรัฐประหารนั้นโดยแก่นแท้ไม่ได้กระทำสำเร็จด้วยการใช้ทหารหรืออาวุธและความรุนแรง แต่กระทำสำเร็จได้ด้วยการทำให้ผู้คนเชื่อฟังและยินยอมที่จะปฏิบัติตาม ดังนั้นหัวใจสำคัญของการต่อต้านการทำรัฐประหารก็คือการไม่ยอมทำตามที่คณะรัฐประหารต้องการ นั่นก็คือการที่ผู้ปกครองนั้นจะปกครองได้ก็จะต้องทำให้ประชาชนนั้นยอม ดังนั้นเมื่อประชาชนไม่ยอม การปกครองนั้นก็เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ได้

โดยหลักสากลที่เข้าใจกันนั้น การทำรัฐประหารนั้น หมายถึงการทำให้รัฐนั้นถูกทำลายลง (ระเบิดหรือเป่าหรือพัดทำลายรัฐไป) ดังนั้นโดยตัวของคำมันเองแล้วภาษาไทยก็แปลได้ตรงตัวทีเดียว จึงย่อมเข้าใจได้ว่าทำไมคณะรัฐประหารเมื่อทำการ "ประหารรัฐ" ย่อมจะต้องหาถ้อยคำสวยหรูมาตั้งชื่อใหม่ให้ดูโหดร้ายน้อยลง เช่นปฏิรูป ปฏิวัติ หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำลายสถาบันการเมืองที่เรียกว่า "รัฐ" ลงนั่นแหละครับ

ในแง่ของคำจำกัดความที่ผูกกับขั้นตอนและวิธีการแล้ว รัฐประหารก็คือการล้มรัฐบาลอย่างรวดเร็วและใช้กำลังบังคับโดยกลุ่มคนที่วางแผนกันมา(เป็นอย่างดี) โดยที่คนที่จะลุกขึ้นขึ้นมาต่อต้านนั้นต่อต้านไม่สำเร็จและรู้สึกว่าตนไม่พร้อมและไม่มีอำนาจในการต่อต้าน

หัวใจสำคัญของการทำรัฐประหารจึงอยู่ที่การวางแผนลับ การใช้กองกำลังที่ติดอาวุธ(ซึ่งมักหมายถึงกองทัพ) และใช้ความรวดเร็วในการยึดอำนาจ แต่นั่นคือส่วนที่เรามักจะสนใจและถูกรายงานในแง่ของข่าวลือ หรือเบื้องหลังการทำรัฐประหาร แต่สิ่งที่สำคัญมากแต่พูดกันน้อยก็คือ การสลายการต่อต้าน (neutralization) ซึ่งมีทั้งความหมายของการไปหาแนวร่วม หรือการปิดกั้นไม่ให้เกิดโอกาสในการต่อต้านและไม่เห็นด้วยในการทำรัฐประหาร ทั้งก่อนการรัฐประหาร ในช่วงการรัฐประหาร และในช่วงที่รัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว การสลายการต่อต้านนี้เองที่ทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือต่อสู้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

การสลายการต่อต้านนั้น อาจแบ่งออกเป็นทั้งในแง่ของการวิเคราะห์แยกแยะฝักฝ่ายและแนวร่วมในหมู่กองกำลัง(ทหาร)เอง ว่าพวกไหนควรจะมาร่วม พวกไหนควรจะไม่ดึงเข้ามาร่วมหรือไปจัดการกับพวกที่มีแนวโน้มที่จะไม่มาเข้าร่วม แต่ที่สำคัญอีกมุมหนึ่งก็คือการสลายการต่อต้านในทางการเมืองและสังคม อาทิไปหาแนวร่วม(และแนวร่วมแบบที่ไม่ต้านคือขออยู่เฉยๆ)ในช่วงก่อนรัฐประหาร หรือเมื่อทำการรัฐประหารก็จัดการผูกขาดการสื่อสารต่างๆผ่านการยึดสื่อ และการทำให้ผู้นำกลุ่มทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งปัญญาชนออกมาสนับสนุน หรือไม่ต้าน (อาจผ่านการโดดเดี่ยว จับกุม หรือลอบสังหาร หรือขู่) และการตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ที่ดูว่ามาจากหลายภาคส่วน(แต่ที่สำคัญคือทุกส่วนนั้นต้องภักดีต่อคณะรัฐประหาร)

การสลายการต่อต้านนั้นไม่ใช่มีแต่การยึดสื่อและควบคุมการสื่อสาร แต่ยังรวมไปถึงการควบคุมสถานที่ราชการ และจำกัดการเดินทางของผู้คนด้วย (ไม่งั้นคนจะเดินทางมาต่อต้าน หรือวางแผนต่อต้าน ดังนั้นการทำรัฐประหารย่อมจะต้องห้ามการเดินทาง อาทิการประกาศเคอร์ฟิว) รวมไปถึงการ "แสดง" แสนยานุภาพของกองกำลังตามถนนหนทาง เพื่อให้เกิดภาพของการคิดไปว่าคณะรัฐประหารสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้แล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งคิดว่าโห เขาทำขนาดนี้แล้วจะต้านเขาไหวเหรอ ก็จะบอกว่าไหวครับ ต่างประเทศเขาต้านกันมาเยอะแล้ว โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือในเยอรมันเมื่อปี ๑๙๒๐ ฝรั่งเศส เมื่อปี ๑๙๖๑ หรือรัสเซียเมื่อปี ๑๙๙๑ ทั้งนั้หัวใจสำคัญก็คือการแสดงออกซึ่งการ "ไม่ยอม" (“No” to the Coup) ต่อการรัฐประหารนั่นแหละครับ และที่สำคัญก็คือการต้านรัฐประหารด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง


หัวใจของการต้านรัฐประหารด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงประกอบด้วยแก้วสามประการ

หนึ่งคือ การไม่ให้ความร่วมมือกับการทำรัฐประหาร (RESIST) หมายถึงการประท้วงและล้อเลียนผู้นำการทำรัฐประหารทั้งหลาย การแจกจ่ายข้อมูลถึงการขัดขืนอย่างอารยะและไม่ใช้ความรุนแรงต่อการรัฐประหาร การไม่ยินยอมต่อการบังคับให้เสนอข่าวด้านเดียว อาจทำได้ผ่านการตีพิมพ์กระดาษเปล่ามากกว่าเนื้อหาที่ต้องการให้พิมพ์ หรือทำให้จอดำในโทรทัศน์ รวมกระทั่งการออกมานอกบ้านในกรณีที่มีเคอร์ฟิว รวมทั้งการนัดหยุดงาน ไม่มาทำงาน หรือในบางกรณีเช่นที่รัสเซียนั้นมีประชาชนออกมายืนล้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆเอาไว้

สองคือ การแสดงออกด้วยความเป็นมิตรต่อผู้ที่กระทำรัฐประหาร (GOODWILL) การไม่ให้ความร่วมมือกับการทำรัฐประการโดยการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นจะสำเร็จได้ที่ผ่านมาจะต้องมีเงื่อนไขของการแสดงออกด้วยความเป็นมิตร ไม่โกรธไม่เกลียดต่อผู้ที่ถืออาวุธ เช่นการพยายามทักทายและพูดคุยกับไม้จับมือกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกสั่งให้ออกมายึดอำนาจ ในกรณีของผู้ต่อต้านที่เป็นผู้หญิง ในหลายกรณีเขามอบขนม อาหาร บุหรี่ ดอกไม้ หรือแม้กระทั่ง(ส่ง)จูบและยิ้มให้กับคณะทหารและขอร้องไม่ให้ยิงลูกหลานของพวกเขา และขอให้เมตตาปรานีต่อประชาชน

ที่สำคัญบรรดาบุคคลที่ออกมาพยายามเป็นมิตรกับทหารนั้นก็พยายามที่จะบอกกันเองด้วยว่าทหารเหล่านี้ก็เป็นลูกเป็นหลายของเรา อย่าไปใช้ความรุนแรงกับเขา

สามคือ การยอมรับที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์และความยากลำบาก (SUFFERING) การเคลื่อนไหวที่อ้างอิงสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรงในอดีตนั้น มักจะมีการฝึกฝนในเรื่องของความอดทนต่อความรุนแรง ความทุกข์และความยากลำบาก โดยจะไม่ยอมใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ การฝึกความกล้าหายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความบ้าบิ่นหรือไม่กลัวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่หมายถึงการไม่ยอมตอบโต้ด้วยความรุนแรงและเดินหน้าต่อไปด้วยการไม่ร่วมมือ เป็นมิตร มีสติ และไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือใช้การรับความรุนแรงเป็นเงื่อนไขที่จะตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง

ทั้งนี้เพราะผู้ที่มีอาวุธหรือปืน(ทหาร) ฯลฯ มักจะใช้อาวุธในการฆ๋าหรือทำร้ายคนอื่นเมื่อเขาเชื่อว่าคนที่เผชิญหน้ากับเขานั้นเกลียดเขาและต้องการฆ่าเขา แต่ถ้าเราแสดงความเป็นมิตรกับเขาก็จะเป็นเรื่องยากเย็นหรือปั่นป่วน/ค้านในจิตใจถ้าเขาจะต้องใช้กำลังและอาวุธในการจัดการ และในเกมส์การต่อสู้นี้ เมื่อทหารไม่เห็นความรุนแรงที่เขาถูกฝึกมาให้คาดหวังว่าจะต้องเจอ เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดันข่มขู่ และไม่เห็นเพื่อนร่วมรบของเขาล้ม(ตาย)ลง เขาก็จะรู้สึกยากลำบากในการที่จะตัดสินใจที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ต่อต้านเขาด้วยความเป็นมิตรอย่างอดทนและไม่รุนแรง นักต่อสู้ที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรงทางกายภาพเชื่อว่าคนที่ถืออาวุธและถูกสั่งให้ใช้ความรุนแรงจะเริ่มเรียนรู้และเห็นใจผู้ที่ออกมาแสดงความเป็นมิตรกับเขาและเริ่มสงสัยกับคำสั่งที่มีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อที่เขาได้มาจากคณะรัฐประหาร และเป็นไปได้ในหลายครั้งที่ทหารเหล่านั้นจะปฏิเสธคำสั่งจากเบื้องบน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่เขาเห็นตรงหน้านั้นขัดกับภาพที่เขาถูกปลูกฝังมา

ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อต้านกับการรัฐประหารก็เพราะเมื่อเราใช้ความรุนแรงในการต่อต้านกับการรัฐประหาร จำนวนของคนที่จะต่อสู้จะถูกจำกัดลงด้วยจำนวนของอาวุธที่เรามี และด้วยจำนวนคนที่สามารถใช้อาวุธเหล่านั้นได้ (ซึ่งย่อมต้องมีน้อยกว่าคนที่ถูกฝึกมารบซึ่งทำรัฐประการเสียเอง) แต่เมื่อต่อต้านรัฐประหารด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นคนจำนวนมากย่อมสามารถเข้าร่วมได้ โดยการไม่ยอมทำตามสิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการ และจำนวนสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ซึ่งจะลดทอนทั้งความชอบธรรมและการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร และย่อมจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคณะรัฐประการในสายตาของนานาชาติด้วย

นอกจากนั้นการต้านรัฐประหารด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นยังมีรากฐานประชาธิปไตยอยู่ด้วย เพราะไม่ต้องฟังคำสั่งที่ตายตัวจากเบื้องบน แต่เป็นการกระจายตัวด้วยหลักการการมีส่วนร่วมที่เน้นความสร้างสรรและหลากหลาย และสะท้อนความเป็นมิตร ไม่เกลียด ไม่โกรธ และไม่กลัว ต่อผู้ทีเราเผชิญหน้าด้วยสติที่เรามี และเป็นการหยิบยื่นความเคารพในความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่เราต่อต้านด้วย

ตัวอย่างของการต้านรัฐประหารโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยความเป็นมิตรและสติรวมทั้งเผชิญกับความทุกข์ยาก ก็คือการเข้าใจว่าหากจะออกไปเผชิญหน้ากับกองกำลังนั้น ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมาก เช่นการไปกันไม่ให้กองกำลังยึดครองอาคารบางแห่ง ทั้งที่หัวใจของหารต่อต้านนั้นจริงๆไม่ใช่ "อาคาร" แต่เป็น "สถาบันทางสังคม" ต่างๆ อาทิ แม้ว่าจะปกป้องโรงเรียน ตึกรัฐสภา หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไม่ได้ แต่เมื่อการสอนเปลี่ยนที่ การทำงานเปลี่ยนที่และการออกอากาศยุติหรือเปลี่ยนที่ไป ก็ให้ถือว่าทำสำเร็จ โดยเราต้องถามคำถามสำคัญว่าการทำรัฐประหารนั้นเขาตั้งใจ "ยึด" เอาสถาบันอะไรของเราไปบ้างและการปกป้องสถาบันเหล่านั้นจะทำได้อย่างไรโดยไม่ยึดติดกับการเผชิญหน้าที่นำไปสู่ความรุนแรง แต่เป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ที่คระรัฐประหาร(รับ)รู้(อยู่แก่ใจ)ว่าเราไม่ยอมให้เกิดสิ่งนั้นได้

และที่สำคัญประการสุดท้ายก็คือการขยายผลของการต้านรัฐประการไปยังกลุ่มคนที่เชื่อว่าอยู่ตรงกลางๆ ไม่ต้านและไม่หนุน ให้เข้ามาเป็นพวกกับเราในการต้านรัฐประหารให้ได้ และด้วยการต้านรัฐประหารที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยไม่ร่วมมือ(อย่าง)เป็นมิตร เข้าใจความยากลำบาก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัวและต่อต้านอย่างมีสตินี้เองที่เราสามารถเพิ่มสถิติของการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวได้อีกครั้งหนึ่งทั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทยและในประวัติศาสตร์โลกครับผม


ที่มา FB

รัฐประหารต้านได้ … (โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

ผมก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถตีพิมพ์งานชิ้นนี้ได้ก่อนที่การรัฐประหารจะเกิดขึ้น และอยากจะขอย้ำว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งที่...ดูเพิ่มเติม

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา