วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

′พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย′ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ โต้กกต. ใช้ม.214 เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้


จากกรณีที่ คณกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) พยายามใช้ช่องทางตาม  มาตรา 214  ของรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้งโดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครมีอำนาจดังกล่าวโดยอ้างอิงประเด็นว่าด้วย "ความขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจหน้าที่" ระหว่าง กกต. และ คณะรัฐมนตรี ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้วนั้น

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 มกราคม  โดยยืนยันว่าไม่สามารถทำได้  การใช้ ม.214  ทำนองดังกล่าวเป็นการใช้ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักการและเจตจำนงของบทบัญญัตินี้  ซึ่ง ม.214  จะถูกนำมาบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 องค์กรในการใช้ "อำนาจตามรัฐธรรมนูญ" (Conflict of Constitutional Power/Competence) โดยอำนาจที่กำลังขัดแย้งกันนี้ต้องเป็น "อำนาจที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรอง" ให้ไว้เท่านั้น  อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากกรณีปัจจุบัน สิ่งที่ กกต. ได้พยายามให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคือ "อำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง" ว่าเป็นอำนาจใคร คำถามคือ อำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? นี่เป็นประเด็น หรือองค์ประกอบสำคัญของ ม.214

"ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า "อำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง" นั้นหาใช่อำนาจที่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง "ไม่ใช่อำนาจตามรัฐธรรมนูญ" (ไม่ใช่อำนาจที่ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)ยอมรับนับถือว่าสามารถกระทำได้) ไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดๆ มีอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่อาจที่จะใช้ ม.214 โดยอ้างว่ามีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจ เพราะ "ไม่มีอำนาจ" ที่จะขัดแย้งกันตามนัยของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยชี้ขาดนั่นเองครับ"

ที่มา  matichon.co.th


เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา