วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

'พิชิต'ชี้มติกกต.ขัดรัฐธรรรมนูญ เตือนอย่าทำผิดซ้ำสอง

'พิชิต'ชี้มติกกต.ขัดรัฐธรรรมนูญ เตือนอย่าทำผิดซ้ำสอง


"พิชิต ชื่นบาน" ชี้มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เตือนอย่าทำผิดซ้ำสอง
 
 
 
 
นายพิชิต ชื่นบาน  ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม กกต. มีมติเสนอรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ๒๘ เขต ใน ๘ จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจาก กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศเปิดรับสมัครใหม่ เห็นว่ามติคณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังกระทำผิดซ้ำสองที่ไม่ทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการรับสมัครผู้สมัครใน ๒๘ เขต ให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ (๒ ก.พ.๕๗)ดังนี้
 
​๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ และมาตรา ๒๓๖(๑) ประกอบ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา ๑๐(๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ในคดีหมายเลขดำที่ ลต.๑/๒๕๕๗ ระบุชัดแจ้งว่า "การที่ผู้สมัครไม่สามารถยื่นใบสมัครต่อ ผ.อ.การเลือกตั้งประจำเขตภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยเหตุที่มีผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับการเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมต่อไป" ดังนั้น กกต.จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกอบกับแนวทางที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งในคดีดังกล่าวข้างต้น ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน ๒๘ เขต มิใช่ กกต.มีมติเสนอรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ๒๘ เขต ถือเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
 
​คำถามที่จะมีถึง กกต.คือนับแต่วันที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัย และชี้แนะถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต.เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ มีกำหนดระยะเวลาพอสมควรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อกำหนดการรับสมัครใน ๒๘ เขต ได้ทำไมไม่ทำ แต่ปล่อยจนให้เกิดปัญหาและถูกฟ้องคดีอาญา ที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๙/๕๗ ทราบว่าศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ การเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ เพื่อต้องการให้หลุดพ้นจากความรับผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช่หรือไม่ กกต.ต้องชี้แจงเพราะหากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ใน ๒๘ เขตจะทำให้มีพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ซ้อน พระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ.๒๕๕๖ และจะทำให้มีวันเลือกตั้งเป็นสองวัน กกต.ก็จะอาศัยวันเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นใหม่นับระยะเวลาไปอีก ๓๐ วัน ทั้งหลายทั้งปวงจะทำให้พ้นคดีใช่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องทำความกระจ่างให้สังคมเข้าใจ และหนักขึ้นหากมีผู้หวังดีประสงค์ร้าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่รัฐบาล ออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ตามข้อเสนอ กกต.ว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะรับผิดชอบหรือไม่ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่ง และทางอาญาที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.กล้ารับผิดชอบหรือไม่
 
​๒. คำถามประการต่อมาหากรัฐบาลยอมตาม กกต.เสนอโดยออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใน ๒๘ เขต ๘ จังหวัดภาคใต้จะเกิดเรื่อง "มหัศจรรย์" ตามมาคือ หากมีการขัดขวางการเลือกตั้งใน ๘ จังหวัดอีก เช่น เมื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใน ๘ จังหวัด แต่สามารถรับสมัครและจัดการเลือกตั้งได้เพียงจังหวัดเดียว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ ๓ เพื่อดำเนินการเลือกตั้งใน ๗ จังหวัดที่เหลือ และหากมีการขัดขวางการเลือกตั้งอีกจะต้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาอีก ๗ ครั้งหรือ เป็นคำถามที่ กกต.ต้องตอบเพราะเรื่องนี้ กกต.ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ณ ปัจจุบันมีผู้ประกาศต่อต้าน และขัดขวางการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต.ต้องสำนึกด้วยว่าการตราพระราชกฤษฎีกานั้น ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกาศตราพระราชกฤษฎีกา และนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สมควรกระทำเช่นนี้หรือไม่
 
​๓. นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่กล่าวมาตามข้อ ๑ กกต.มีหน้าที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ ให้มีจำนวน ส.ส. ๕๐๐ คน หากไม่ถึง ๕๐๐ คนต้องดำเนินการให้มี ส.ส.มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๕ ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเพื่อให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๗ สำหรับจำนวน ส.ส.ที่ขาดอยู่ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้มี ส.ส.ให้ครบตามจำนวน ๕๐๐ คน ภายใน ๑๘๐ วัน คำถามและข้อเสนอแนะที่ กกต.ต้องนำไปคิดเปรียบเทียบคือการเลือกตั้งเพื่อให้ ส.ส.ครบจำนวน ๕๐๐ คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ กำหนดภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป "ไม่จำต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ใช่หรือไม่ หากได้คำตอบว่าไม่จำต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่" คำตอบในปัญหาที่ กกต.มีมติในวันนี้ก็จะไม่เกิดเลย เพราะเป็นคำตอบเดียวกันว่า กกต.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จะออกประกาศ เพื่อรับสมัครใหม่ได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่แต่อย่างใด
 
​สำหรับปัญหาที่หาก กกต.ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ส.ส.ในจำนวนร้อยละ ๙๕ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เพื่อประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๘๐ วัน กกต.ก็ยังคงมีหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผู้สงสัยว่ารัฐบาลต้องรักษาการต่อไปเรื่อยใช่ไหม คำตอบนี้หากมีผู้สงสัย หรือผู้ที่พยายามจะแปลความให้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจรักษาการก็ดี เห็นว่าเรื่องนี้ตรวจสอบได้จาก บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ วรรคท้ายที่บัญญัติว่า "ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ให้คณะรัฐมนตรีดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการใดๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเตรียมการดำเนินการได้" โดยสรุป คณะรัฐมนตรีคงต้องรักษาการต่อไป กลุ่มบุคคลที่ต้องการให้เกิดสุญญากาศ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรี มาตรา ๗ ขอให้เลิกคิดได้

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา