วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

กกต.ระบุมีผู้เสียสิทธิ 4 แสนคน จากการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า




สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุไม่สามารถจัดเลือกตั้งล่วงหน้า 83 เขต จาก 375 เขต มีผูู้เสียสิทธิ 4 แสนคน และจะหารือรัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ใช่เลื่อนวัน ด้าน ศรส. กังขาเจ้าหน้าที่เป็นใจปิดหน่วยเลือกตั้ง ส่วนรองปลัด กทม. สรุปมีผู้ใช้สิทธิทัน 1.4 หมื่นจากที่ลงทะเบียน 9 แสนคน 
กกต.ระบุมีผู้เสียสิทธิ 4 แสนคนจากการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า
26 ม.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการพรรคการเมือง แถลงภาพรวมไม่สามารถจัดเลือกตั้งล่วงหน้าได้ประมาณ 83 เขต คิดเป็นร้อยละ 22 หรือประมาณ 4 แสนกว่าคน จากทั้งหมด 375 เขตเลือกตั้ง จากผู้ขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้ากว่า 2 ล้านคน
โดยนายสมชัยระบุว่าหากเป็นการใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งไม่มีผลกระทบ เพราะสามารถมาลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ได้ แต่นอกเขตเลือกตั้งถือว่าเสียสิทธิ ซึ่งทางกฎหมายมีปัญหาว่า จะจัดเลือกตั้งแทนได้หรือไม่ โดย กกต ต้องหารือข้อกฎหมายก่อน อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีปัญหาความวุ่นวายคล้ายกัน ซึ่ง กกต.ไม่อยากให้เกิดขึ้น

กกต. เตรียมหารือรัฐบาลขอกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เลื่อนเลือกตั้ง
นายสมชัย กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดจะพูดคุยกับรัฐบาล ว่า สมควรเดินหน้าจัดเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์หรือไม่ ซึ่งก่อนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กกต.กลาง ได้ส่งหนังสือให้จังหวัดชะลอการดำเนินกิจกรรม เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยให้รอหลังวันพุธที่ 29 มกราคมก่อน
สำหรับประเด็นที่ตัวแทนรัฐบาล ระบุว่า กกต.ไม่ประสานทหาร ตำรวจ หรือความมั่นคง ขอกำลังสนับสนุน ยืนยันว่า กกต.ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึงปลัดกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอกำลังสนับสนุน อุปกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมแล้ว และจากการลงพื้นที่ภาคใต้ก่อนหน้านี้ พบว่า การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทำงานลำบาก เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย พร้อมเชิญ ผบ.ตร. ปลัดกลาโหม และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ลงพื้นที่ภาคใต้ด้วยกัน เพื่อดูความเรียบร้อยและข้อเท็จจริง ที่ กกต.ไม่สามารถทำงานได้ เพราะเหตุผลใด โดย กกต.พร้อมออกค่าใช้จ่ายให้ ทั้งนี้ เชื่อว่า หากยังจัดเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็ไม่ใช่คำตอบสังคม เพราะไม่สามารถเปิดสภาฯ ได้ และเหตุการณ์ขัดแย้งยังไม่จบ อีกทั้งกรอบเวลาไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ต้องจัดการเลือกตั้งเมื่อใด แต่การเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานความสงบ และความเข้าใจของทุกฝ่าย และต้องเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม หลังจากนี้ เมื่อหารือกับรัฐบาลแล้ว กกต.เห็นตรงกัน ว่า ควรกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด หรือเริ่มนับ 1 ใหม่ ไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้ง

รองปลัด กทม. มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทัน 1.4 หมื่น จากผู้ลงทะเบียน 9 แสน
สำนักงานเขตบางซื่อ สถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีการประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้ง หลังช่วงเช้าวันที่ 26 ม.ค. มีผู้ชุมนุม กปปส. มาปิด
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานวันนี้ (26 ม.ค.) ว่า นายบรรจง สุขดี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ในกรุงเทพมหานคร ว่า มีหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าถูกปิดล้อมโดย กลุ่ม กปปส. ไม่สามารถเปิดให้เลือกตั้งได้ จำนวน 30 เขต ส่วนอีก 20 เขตเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่ถูกทยอยปิดล้อมจนไม่สามารถเลือกตั้งต่อได้ จึงประกาศยุติการเลือกตั้งก่อนเวลาปิดหีบเกือบทุกเขต เหลือเพียงเขตสาทร ที่สามารถเปิดให้เลือกตั้งล่วงหน้าแบบนอกเขตจังหวัด จนถึงเวลาปิดหีบเวลา 15.00 น.มีผู้มาใช้สิทธิ์ 2,170 คน จากที่ลงทะเบียน 17,574 คน ส่วนเขตลาดกระบัง เปิดให้เลือกตั้งล่วงหน้าเฉพาะในเขตจังหวัดถึงเวลา 15.00 น.เช่นกัน มีผู้ใช้สิทธิ์ 60 คน จากที่ลงทะเบียน 95 คน
ทั้งนี้ ส่วนการปกครองและเลือกตั้ง สำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร ได้สรุปผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเขตที่ลงทะเบียนทั้ง 50 เขต จำนวน 564 คน จากที่ลงทะเบียนทั้งหมด 5,440 คน ส่วนผู้มีสิทธิ์นอกเขตจังหวัด มาใช้สิทธิ์ 13,893 คน จากที่ลงทะเบียน 958,749 คน

ศรส. แถลงเลือกตั้งล่วงหน้าได้ 66 จังหวัด ส่วนเขตที่ปิดหน่วยเลือกตั้งอาจมีเจ้าหน้าที่เป็นใจ
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานคำแถลงของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษา ศรส. แถลงว่าในขณะนี้ ทาง ศรส. สรุปภาพรวมการเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศ สามารถดำเนินการได้ราบรื่นทั้งหมด จำนวน 66 จังหวัด และไม่สามารถดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ 11 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง รวมทั้ง กทม.  ซึ่ง ศรส. ได้รวบรวมข้อมูล ทราบว่ามีหลายเขตเลือกตั้ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ปิดหน่วยการเลือกตั้งเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะมีเจ้าหน้าที่บางคนรู้เห็นเป็นใจด้วย ซึ่งอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย ส่วนในการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้ กกต.เอง ไม่ได้ขอกำลังตำรวจหรือทหาร เข้าไปช่วยดูแลความเรียบร้อยการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมาก

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา