วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" แนะทางออกประเทศเลิกพึ่ง "คนกลาง"

สัมภาษณ์ โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี


"มติชนทีวี" พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุว่าตั้งใจวางบทบาทตัวเองเป็น "คอมเมนท์เตเตอร์" หรือกรรมการข้างสนาม ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ในภาวะที่คนไทยแบ่งฝ่ายกันชัดเจน  
 
 

-เหตุการณ์ปะทะ วันที่ 18 ก.พ. 2557 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม อาจารย์มองอย่างไร

ผมเข้าใจว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงเห็นว่า กปปส. อาจจะอยู่ในช่วงขาลงแล้ว จึงเริ่มขอคืนพื้นที่ จากเดิมที่ถอยตลอด ยันไว้แค่เสมอ ตอนนี้อาจจะเริ่มคิดชนะแล้ว แต่ความรุนแรงและการที่มีการใช้อาวุธกัน ผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดเลย 
 
 

 
- คำพิพากษาของศาลแพ่งเรื่องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจารย์มองเป็นเรื่องดีหรือไม่ 

ในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมาเมื่อสถานการณ์การชุมนุมยกระดับไปถึงจุดที่คุกคามรัฐบาลมากๆ ทุกรัฐบาล ทั้งพลังประชาชน ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย คือทั้งสองข้าง ล้วนแต่ใช้ พรก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในการจัดการกับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเสมอ แล้วเหตุนองเลือดก็เกิดจากการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมโดยอาศัยอำนาจจากพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ นี่แหละ การที่ศาลแพ่งท่านบอกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ห้ามรัฐบาลไม่ให้สลายการชุมนุม ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจรัฐในการจัดการกับผู้ชุมนุม แล้วก็จะทำให้สถานการณ์มันจะไม่ถึงขั้นนองเลือด 

ส่วนประเด็นในเรื่องการห้าม ศรส.ออกประกาศที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของผู้ชุมนุมที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าปัญหาคงอยู่ที่การตีความของศาลไทยว่าการชุมนุมโดยสงบคืออะไร การปิดสถานที่ราชการถือเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญท่านเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ศาลแพ่งก็เดินตามนั้น มันก็มีปัญหาอยู่เหมือนกันเพราะมันมีบางส่วนที่ไม่สงบหรือเกินเลยไป แต่อาจจะกลายเป็นการคุ้มครองในส่วนที่ไม่สงบหรือรุนแรงด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป 

แต่โดยรวมๆ ทั้งสองฝ่ายก็ถือว่าตนเองได้ทั้งคู่ รัฐบาลก็ถือว่าตนเองได้ในแง่ที่ศาลรับรองว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ถือว่าได้ในแง่ที่ศาลจำกัดอำนาจของ ศรส. สถานการณ์มันก็จะยันๆ กันอยู่อย่างนี้ แต่ก็จะดีในแง่ที่จะไม่นองเลือด ซึ่งพอยันๆ กันอยู่อย่างนี้แล้ว โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันก็คงจะมีมากขึ้น แล้วผมก็หวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เพื่อที่เราจะหาทางออกจากสถานการณ์ตรงนี้ และปฏิรูปประเทศกันจริงๆ ได้เสียที 

-บุคคลากรทางวิชาการ ถูกคุกคาม อย่างกรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 

ความจริงถ้ามองย้อนหลังไปตั้งแต่ 2549 ความรุนแรงก็เกิดขึ้นทุกรอบ ยิ่งชุมนุมยืดเยื้อ ก็ยิ่งมีเหตุมากขึ้น เช่น ตอนที่พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ บุกสนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีเหตุระเบิดลงแทบทุกคืน หรือเมื่อครั้งที่ นปช. ยึดราชประสงค์ ก็มีเหตุรุนแรงเป็นระยะๆ ในรอบนี้ ความรุนแรงก็เกิดเป็นระยะ และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 16 ศพไปแล้ว แต่ว่าการมากระทำต่อนักวิชาการโดยตรง ผมเข้าใจว่าที่ผ่านมาไม่มี และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ทำถึงขนาดนี้ 

ทีนี้ เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า จะเป็นนักวิชาการที่มีความเห็นเช่นใดก็แล้วแต่ หรือเป็นผู้ชุมนุมในข้างใดก็แล้วแต่ ผมคิดว่า การที่เราคิดไม่เหมือนกัน หรือคิดต่างกัน มันไม่ควรต้องมาฆ่ากัน นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย ทั้งสังคมต้องตระหนักแล้วว่า นี่เป็นสัญญาณ ว่าจะเกิดอะไรที่มันหนักกว่านี้อีกหรือเปล่าในอนาคต ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันป้องกันแก้ไขไม่ให้มันรุนแรงไปกว่านี้ 

มันเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย ซึ่งผมไม่อยากจะมองเฉพาะกรณีของอาจารย์สมศักดิ์เท่านั้น แต่อยากมองในภาพรวมว่า การคิดต่างกัน มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมาทำร้ายกันหรือเข่นฆ่ากัน นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จะต้องดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาจารย์สมศักดิ์ หรือกรณีที่มีการล้อมการรับสมัคร ส.ส. ที่ดินแดง ซึ่งมีผู้เสียชีวิต ทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุม หรือเหตุการณ์ที่หลักสี่ก่อนเลือกตั้งหนึ่งวัน รวมทั้งที่รามคำแหง 

แม้จะคิดแตกต่างกัน หรือขัดแย้งกัน เราก็ต้องอยู่ร่วมประเทศกันให้ได้โดยไม่ฆ่ากัน นี่คือพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องใจกว้าง ประชาธิปไตยมันคิดต่างกันได้ และการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ต้องห้าม คิดต่างกันก็ต้องใช้เหตุผลมาตัดสินกัน ไม่ใช่ใช้กำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ ก็ต้องทำงานจริงจังให้มากกว่านี้ 

-เดิมความเห็นแตกต่างทางวิชาการจะมีการตอบโต้ด้วยข้อถกเถียง แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์ ถึงกับโดนถล่มบ้าน

ผมเข้าใจว่า เนื่องจากอาจารย์สมศักดิ์เป็นนักวิชาการที่ไม่กลัวอะไร มีความกล้าแสดงความคิดเห็น แม้สิ่งนั้นจะไม่ถูกใจคนฟังหรือไม่ถูกใจคนในสังคม อาจารย์สมศักดิ์ก็มีชื่อเสียงในด้านนี้ หรืออาจจะเป็นเรื่องความเห็นในบางครั้งที่ไปเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจจะเป็นอีกประเด็นที่ทำให้บางคนไม่ชอบ บางทีก็เป็นเรื่องอคติด้วยที่ผนวกกันเข้าไป แต่จะเป็นเรื่องใดก็ตาม ผมว่าใครก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำแบบนี้กับอาจารย์สมศักดิ์หรือกับใครก็แล้วแต่ที่คิดต่างจากเรา อันนี้คือ หลักการพื้นฐานที่สุดเลยของประชาธิปไตย 
 
 

-ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะมีการ จะห้าม หรือตักเตือน หรือไม่

การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” ยิ่งถ้าสิ่งที่พูดหรือนำเสนอเป็นเรื่องงานวิชาการ มีการศึกษาวิจัยค้นคว้า ยิ่งได้รับความคุ้มครองมากขึ้นไปอีก คือเสรีภาพทางวิชาการตามมาตรา 50 ขอบเขตในการใช้สิทธิเสรีภาพก็มีแต่เพียงจะต้องไม่ใช้เสรีภาพนั้นไปละเมิดสิทธิคนอื่น หรือล้มล้างระบอบการปกครอง ถ้าหากเป็นการใช้เสรีภาพตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องรับผิดชอบตัวเองในการแสดงออก 

ธรรมศาสตร์ เราไม่เคยห้ามอาจารย์ในการแสดงออก ไม่เคยห้ามนักศึกษาด้วย อย่างมากถ้าเยอะไปก็อาจจะเตือนนักศึกษาว่า ให้ใช้เสรีภาพอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น แต่อาจารย์เราไม่มีและไม่เคยเตือนหรอกครับ ถือว่าต้องรับผิดชอบตัวเองครับ ธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่มีจุดที่ถูกวิจารณ์ได้ แต่คนที่คิดต่าง อยู่ร่วมมหาวิทยาลัยอยู่ร่วมคณะกันได้ ธรรมศาสตร์ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ของการอยู่ร่วมกันของคนที่คิดแตกต่างกันครับ 

- กรณีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ถูกถล่มบ้านเช่นกัน

อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง คือประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นซึ่งเป็นอีกข้างหนึ่งก็โดน แล้วยังมีการปาระเบิดที่ศาลอาญา เป็นสัญญาณความรุนแรงที่มากขึ้น แต่ผมยังมีความหวังว่าเราจะก้าวข้ามพ้นไปวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อมากไปกว่านี้ ถ้าเราทุกฝ่ายช่วยกันทำหน้าที่ และตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตย คือจะคิดต่างกันแค่ไหน จะขัดแย้งกันเพียงใด ต้องไม่ฆ่ากัน 
 
 

-ทำไมอาจารย์ยังมีความหวัง ในขณะที่ความรุนแรงยังเพิ่มขึ้น 

ถ้าเราคิดว่าแก้ไม่ได้ มันก็จะแก้ไม่ได้จริงๆ นี่คือปัญหาของเรา ปัญหาหลายเรื่องคนส่วนใหญ่เชื่อว่ามันแก้ไม่ได้ ก็เลยไม่มีคนลงมือแก้ ถ้าเชื่อว่าแก้ได้ ก็จะลงมาแก้ ผมคิดว่า ข้อนี้สำคัญนะครับ แล้วถ้ามองในทางบวก ต้องถือว่า ความขัดแย้งในรอบนี้ มีโอกาสอยู่ในวิกฤต 

คือประตูแห่งการปฏิรูปประเทศ ซึ่งนานๆ เปิดที มันได้เปิดออกมาแล้วอีกครั้ง โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าต้องปฏิรูป เพียงแต่ว่ายังเถียงกันอยู่ว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง 

ถ้ามาหาสิ่งที่เหมือนกัน ผมว่าเราเหมือนกันมากกว่าต่าง คือ หนึ่ง เราต้องการปฏิรูปประเทศ สอง เลือกตั้งก็ต้องมี สาม การปฏิวัติก็ต้องหมดไปเสียที สี่ เราไม่ปรารถนานักการเมืองคอรัปชั่น ห้า เราอยากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

4-5 ข้อหลักๆ นี้เราเห็นตรงกันนะครับ เราเห็นเหมือนกันมากกว่าต่างกันนะครับ แต่ที่เราทะเลาะกันทุกวันนี้ เพราะไปดูสิ่งที่ต่างกัน ไม่ได้หาสิ่งที่เหมือนกัน ทางออกคือต้องเจรจากันแต่นี่คือสิ่งที่ขาดไปในขณะนี้ 

ประชาธิปไตยสุดซอยไม่ได้ครับ และยิ่งสุดซอยมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าสุดซอย ฉันจะเอาร้อยแกต้องได้ศูนย์ แล้วฝั่งที่ได้ศูนย์ก็ไม่ยอม จะเอาร้อยเหมือนกัน สุดท้ายจะจบด้วยกำลังและความรุนแรงเสมอ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทั้งไทยและทั่วโลกเหมือนกันหมด คือถ้าสุดโต่ง จะนำไปสู่ความรุนแรง วิธีการแก้ความรุนแรงที่ดีที่สุดคือ หันหน้ามาเจรจากัน มันก็จะคลี่คลายได้

คนไทยไม่ใช่ชนชาติที่โง่เขลา ความจริงผ่านเหตุการณ์นองเลือดมาตั้ง 4 เหตุการณ์แล้ว ก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงอย่างนี้อีกแล้ว แต่ก็ต้องถือว่าเรามีความสามารถในการเรียนรู้อยู่บ้างนะครับ ถึงแม้บางทีอาจจะช้าไปหน่อย หรืออาจจะยังมีปัญหาในแง่การเอาแต่โทษคนอื่นมากไปหน่อย แต่ว่าเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไปเกิดในประเทศอื่น ผมว่านองเลือดตายกันเป็นร้อยเป็นพันแล้วนะครับ 

การที่เรายังประคับประคองได้ถึงขนาดนี้ ผมคิดว่านี่ก็คือ ความก้าวหน้าอย่างหนึ่งแล้วของประชาธิปไตย สำคัญคือ ต้องประคับประคองกันต่อไป 

ผมเชื่อว่า ถ้าหากเราหลีกเลี่ยง 2 เรื่องนี้ได้ คือ ไม่ให้มีปฏิวัติ และไม่ให้นองเลือดอีก ผมว่าประชาธิปไตยไทย มาถึงจุดที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว เปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่มันดีกว่าเดิม 

แม้ความขัดแย้งจะยังมี แต่เราจะอดทนและอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น และนี่คือคุณภาพใหม่ของประชาธิปไตย ผมคิดว่าตอนนี้เราจะได้แล้วตรงนี้สำคัญคือ ต้องช่วยกันต่อไปนะครับ 

-จะเจรจาหาทางออกได้อย่างไรในเมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยอมรับการเลือกตั้งในรอบนี้และเสนอสภาประชาชน 

คือ การเจรจาเริ่มจากฝ่ายเดียวก็ได้ เป็นผู้ตั้งเงื่อนไขโดยไม่ต้องไปหาคนกลาง ประเทศไทยชอบหาคนกลาง ความจริงประชาธิปไตยต้องพึ่งตัวเอง ถ้าไปรอพึ่งคนกลางมันไม่สำเร็จ คู่ขัดแย้งต้องหาทางกัน แต่ของเราขณะนี้ ยังไม่มีความพยายามมากพอในการให้มีการเจรจา 

คือฝ่ายหนึ่งก็ไม่อยากเจรจา คงเพราะเชื่อว่า ตัวเองจะชนะ ก็เลยไม่อยากเจรจา แต่จริงๆ แล้ว ผมมองว่า บ้านเมืองเป็นแบบนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน ถ้ายันกันอยู่ ไม่แพ้ไม่ชนะ มันยืดเยื้อ 

ประสบการณ์ทั่วโลกเหมือนกันหมด ถ้ายันกันอยู่ ก็ต้องนำไปสู่การเจรจา เพราะทั้งคู่ไม่มีใครชนะ สำหรับสถานการณ์ที่ข้างหนึ่งข้างใดเชื่อว่าตัวเองจะชนะ ขณะนี้มันผ่านมาแล้ว ไม่ใช่สถานการณ์นั้นแล้ว 

-การเจรจาระหว่างคุณยิ่งลักษณ์และสุเทพ ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยมีทหารจัดให้ แต่ก็ไม่สำเร็จ 

มันไม่ได้สำเร็จง่ายๆ เช่น กรณีเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้ เจรจากัน ร้อยกว่าครั้ง ยังไม่สำเร็จเลย ขนาดยูเอ็นเป็นคนกลางนะ แต่ผมว่าสุดท้ายก็ต้องเจรจา ไม่มีทางอื่น เราไม่ต้องการสงครามกลางเมือง เราต้องการประเทศไทยที่ไม่ว่าคุณจะเลือกเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ จะใส่เสื้อสีอะไรก็คนไทยเหมือนกัน เราไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่สำคัญคือ ต้องเคารพกัน 

-ถ้ารัฐบาล ต้องเจรจากับผู้ต้องหาหลายคดี ในแง่กฎหมายจะอธิบายอย่างไร 

มันเป็นการหาทางออก ความผิดหรือโทษตามกฎหมายก็ว่าไป เรื่องเจรจาก็ว่าไป แล้วต้องดูเจตนารมณ์กฎหมายด้วย ผมพูดว่าต้องบังคับใช้กฎหมายไม่ได้หมายความว่า ต้องบังคับใช้แบบเถรตรง เพราะกฎหมายทุกกฎหมายมันมีเจตนารมณ์ มันคือกติกาในการอยู่ร่วมกัน ศีลของพระ มี 227 ข้อ พระพุทธเจ้าท่านบอกก่อนเสด็จปรินิพานว่า บรรดาข้อวินัยสงฆ์ที่ท่านบัญญัติไว้ ข้อไหนเป็นเรื่องหยุมหยิม คณะสงฆ์เห็นสมควรจะเลิกก็ได้ แต่พระสงฆ์ไม่เลิกเอง ผมหมายถึงว่า ข้อที่หยุมหยิม อย่าให้มันใหญ่กว่าเจตนารมณ์ แต่แน่นอนว่า โดยหลักแล้ว เราต้องทำตามกติกา

ผมหมายความว่า เราต้องใช้กติกาแก้ปัญหา แต่อย่าเอาอุปสรรคหรือปัญหามาตั้งก่อนเพราะจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องเอาการแก้ปัญหามาตั้งก่อน แล้วหาทางแก้ปัญหา ผมเชื่อว่า ภายใต้กรอบ ภายใต้กติกา หลักการประชาธิปไตยทุกอย่างมีทางออกเสมอครับ 

-ถ้าอาจารย์ เสนอคู่เจรจาได้โดยตรงจะเสนอรูปแบบอย่างไร 

ผมเสนอต่อทั้ง 2 ข้าง เพราะว่าผมไม่ได้อยู่ในข้างหนึ่งข้างใด ผมคิดว่า บทบาทนักวิชาการเหมือนคอมเมนท์เตเตอร์อยู่ข้างสนาม ไม่ใช่นักฟุตบอล เรื่องการเจรจา ฝ่ายที่ไม่ต้องการเจรจาคงจะเป็น กปปส. แต่ผมคิดว่า กปปส. ก็ต้องเจรจา เพราะประชาธิปไตย ไม่มีใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประชาธิปไตยมันต้องตกลงกัน เพราะว่า ถ้าข้างหนึ่งได้ร้อย อีกข้างเหลือศูนย์ แล้วใครจะไปยอม ก็นำไปสู่การฆ่ากัน 

ส่วนรัฐบาล ดูเหมือนอยากเจรจามากกกว่า แต่เข้าใจว่าทำไม่เป็น หรือ คิดวิธีการที่เหมาะไม่ออก แล้วอยู่ตรงจุดที่ท่องคาถาไม่ลาออกๆ อย่างเดียว 

ความจริงวิธีที่ทำให้เกิดการเจรจามีมากมายและสามารถเริ่มได้จากข้างหนึ่งข้างใดก็ได้ คือถ้าทั้ง 2 ฝ่ายอยากเจรจาก็จบ แต่เมื่อมีฝ่ายไม่อยากเจรจา ก็ต้องให้อีกฝ่ายชวนก่อน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจจะบอกว่า ถ้า กปปส. ยอมเจรจา รัฐบาลก็ยอมถอย ซึ่งจริงๆ เคยพูดไปแล้วว่าถ้าตัวเองเป็นเงื่อนไขปัญหาก็พร้อมที่จะถอย จะพูดซ้ำอีกก็ได้ แบบนี้ก็อาจจะเปิดโต๊ะเจรจาได้ ในทางกลับกัน กปปส. ก็ต้องผ่อนลงมาบ้าง เพราะว่า ประเทศจะเดินหน้าต่อไป โดยที่ยันกันอยู่แบบนี้ไม่ได้หรอกครับ ก็ต้องมีจุดที่เหมาะสมที่จะเป็นทางออกให้บ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

-จะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ ของกฎหมายหรือไม่ 

ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แต่ผมว่า อย่างน้อยตอนนี้เราก็ยังไม่ฆ่ากันนะ คือมีความรุนแรงเกิดขึ้น และถึงแม้จะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 16 คนแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจลาจลนองเลือด แล้วผมก็หวังว่าในรอบนี้ เราจะหลีกเลี่ยงได้ 

-ส่วนตัวอาจารย์ยังมองว่า การเลือกตั้ง ยังเป็นทางออกหรือไม่ 

ผมว่า ยังไงก็ต้องเลือกตั้งนะ และการเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งที่คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ข้าง มาลงเลือกตั้งกันถึงจะจบ คือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เพียง 1 ใน 50 พรรคการเมืองเท่านั้นนะครับ แต่คืออีกข้างหนึ่ง แต่ข้อนี้ก็ต้องระวัง เพราะจะกลายเป็นว่า ทำไมเลือกปฏิบัติให้ความสำคัญกับพรรคประชาธิปัตย์มากเป็นพิเศษ แต่ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เพียงพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่เขาเป็นอีกข้างหนึ่ง 

ผมยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีความขัดแย้ง มีสงครามกลางเมือง มีการฆ่ากัน ก็จบลงด้วยการลงเลือกตั้งทุกครั้ง ให้ประชาชนตัดสินว่าใครจะบริหารบ้านเมืองแล้วจบ เพราะเขายอมรับให้ผลการเลือกตั้งมาตัดสิน แต่ปัญหาของเราคือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการยอมรับทั้ง 2 ข้าง ผมหมายถึงว่า มีอีกข้างที่เขาไม่เอา ดังนั้น การเลือกตั้ง ถึงแม้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ถูกต้องตามกฎหมาย แต่คลี่คลายความขัดแย้งไม่ได้ เพราะอีกข้างหนึ่งไม่เอา

ความหมายของผมคือ ยังไงก็ตาม การเลือกตั้งที่อีกฝ่ายมาลงด้วยต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ครับ ต่อให้เลือกตั้งคราวนี้สามารถเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนครบ 95 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส. และมีสภา และมีรัฐบาลขึ้นมาได้ แต่รัฐบาลที่มาจากรัฐสภานี้ ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้นาน จะเป็นรัฐบาลชั่วคราวแน่ เพราะมันขาดอีกข้างหนึ่งไป แรงกดดันมันจะมาก อาจจะอยู่ได้สัก 6 เดือน 9 เดือน อย่างมาก 1 ปี ก็ต้องเลือกตั้งใหม่อยู่ดี เพื่อให้อีกข้างมาลงด้วย โดยต้องให้เห็นตรงกันว่า เลือกตั้งเสร็จแล้วจบนะ ประชาชนเลือกข้างไหนข้างนั้นชนะ ซึ่งแน่นอน ก็จะต้องมีการมาตกลงกันก่อนถึงตรงนั้น 
 
 

-ประชาธิปัตย์ มีเสรีภาพที่จะลงเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้หรือเปล่า

ผมว่าประชาธิปัตย์ขึ้นอยู่กับ กปปส. เมื่อ กปปส. ไม่เอาเลือกตั้ง เขาก็ไม่ลงเลือกตั้ง 

-เมื่อไม่ลง ก็ไม่ใช่ความผิด?
 
ผมว่า ผิดหรือถูกประชาชนตัดสินเอง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ต้องลงสมัคร เพียงแต่ว่าในทางการเมือง ควรหรือไม่ควรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนในแง่กฎหมาย เขาจะไม่ลงก็ได้ 
 
 

-เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ลงแล้ว ใครควรจะรับผิดชอบ 

ผมคิดว่า นี่เป็นปัญหาของการแบ่งข้างตีกัน สุดท้ายแล้ว เราไม่อาจจะบอกได้หรอกว่า เป็นความรับผิดชอบของใครแค่ข้างเดียว เพราะมันคือผลของการกระทำของเราทุกคนทั้ง 2 ข้าง เราถึงมาไกลขนาดนี้ได้ยังไง ถ้าช่วยกันมองย้อนกลับไป สมมุติประเทศไทยเป็นเรือลำหนึ่งที่มีน้ำรั่วเต็มลำเรือ การวิดออกไปอย่างเดียว ไม่มีประโยชน์ ถ้าตราบใดที่รูรั่วยังมีอยู่ 

สิ่งที่ดีกว่า คือทุกคนมาช่วยกันดู ใครเจาะรูรั่วไว้ตรงไหนก็อุดตรงนั้น นี่คือการปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริง ทุกคนลงมือทำเลย ปัญหาของเราคือ เราเอาแต่จะไปเรียกร้องคนอื่นให้ปฏิรูป โดยมักจะลืมตัวเอง นี่เป็นปัญหาทั้ง 2 ข้าง ไม่ใช่แค่ข้างหนึ่งข้างใด 

เอาง่ายๆ ปัญหาคอรัปชั่น เราบอกว่านักการเมืองทุจริต นักการเมืองโกง แต่คนที่ว่านักการเมืองทุจริต ถามว่า มีสักกี่คนที่ไม่เคยใช้เส้น และไม่เคยให้สินบนตำรวจตอนโดนจับข้อหาผิดกฎจราจร

นักการเมืองคอรัปชั่น เป็นภาพสะท้อนของประชาชน ผมหมายถึงว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่น มันคือ ผลรวมที่เกิดจากการกระทำของคนไทยแต่ละคนนี่แหละ ที่เราชอบใช้เส้นสายให้สินบน จึงได้นักการเมืองและการเมืองอย่างทุกวันนี้ 

ถ้าจะแก้ปัญหาแท้จริง คนไทยทุกคนหยุดใช้เส้นสาย หยุดให้สินบน ถ้าพร้อมกันทำ ปัญหาคอรัปชั่นก็หมดทันที เพราะคอรัปชั่น ไม่ได้มีแต่ผู้ให้ มีผู้รับด้วย มันคือผลที่เกิดจากเราเอง ต้องแก้จากเราด้วย 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตรงนี้ มันจะเกิดจากเราเอาแต่โทษกัน และเอาแต่บอกอีกฝ่ายหนึ่งให้แก้ปัญหา โดยลืมมองตัวเองไปว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มาช่วยกันแก้ดีกว่า 

ในขณะนี้คือการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้แก้ปัญหา ซึ่งแน่นอน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมก็ดี แต่ถ้าไม่มีฝ่ายใดยอม ก็เป็นปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ไงครับ

-มองบทบาท กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร อย่างไร เพราะฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลก็มองว่า ท่านไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง 

ผมคิดว่า ด้วยความที่อาจารย์สมชัยท่านเป็นอาจารย์ เป็นนักรัฐศาสตร์ ท่านก็มีคำถาม มีวิธีการในแบบเหมือนสมัยเป็นอาจารย์ ทำให้อาจจะเกิดความเข้าใจในทางลบได้ในบทบาทแบบนี้ ผมไม่คิดว่าอาจารย์สมชัย จะมีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง เพราะเคยเป็นรองอธิการบดีที่ธรรมศาสตร์ด้วยกัน เคยทำงานด้วยกัน ก็เชื่อว่า อาจารย์สมชัยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง เพียงแต่ว่า บางทีอาจารย์ให้สัมภาษณ์บ่อยหน่อย เขียนความเห็นบ่อยหน่อย ซึ่งยิ่งบ่อย ก็ยิ่งมีประเด็นให้ถูกต่อว่า ปัญหาของอาจารย์สมชัยอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง 

-อาจารย์คิดว่า ท่านทำหน้าที่ได้ดี 
 
ไม่ตอบแล้วกันนะครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า มันอยู่ที่การทำหน้าที่ ต่อจากนี้ไปด้วย ด้วยความเป็น กกต.ใหม่ เพิ่งทำงานได้ 3 เดือนโดยประมาณ ก็อาจจะเร็วไปในการสรุปว่าใครสอบผ่านไม่ผ่าน อาจจะมีข้อคอมเมนท์ได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ตัดสินว่าสอบตกแล้วอาจจะเร็วเกินไป คงต้องดูต่อไป 

-ทั้ง 2 ฝ่าย มีอุดมคติที่แตกต่างกัน ส่วนตัวอาจารย์อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน 

ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างไรไม่ใช่ประเด็น สำคัญที่สุดคือ เราจะแตกต่างแค่ไหนขัดแย้งกันเพียงใด ต้องอยู่ร่วมประเทศกันให้ได้ แล้วประเทศควรจะเป็นอย่างไรก็มาคุยกัน 

ประเทศเป็นของประชาชนทุกคน นักวิชาการบอกได้แค่ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง แต่คนเลือกคือประชาชนครับ ผมไม่ได้เลือกให้ประชาชน อย่างมากที่สุดผมก็จะทำทางเลือกให้ประชาชนเจ้าของประเทศเขาได้เลือก แล้วจะเลือกอย่างไรก็ใช้กระบวนการประชาธิปไตยมาตัดสินกัน 

ผมว่าประเทศไทยจะไปทางไหน มันอยู่ที่ประชาชน สำคัญคือ อย่าฆ่ากัน ดังนั้น เรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย คือต้องไม่ฆ่ากันแล้วหาทางออกร่วมกัน แล้วประเทศควรไปทางไหน ในกระบวนการประชาธิปไตย คำตอบจะมาเอง 

- ทั้ง 2 ฝ่ายอ้างประชาชน

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลข 20 ล้านของการมาใช้สิทธิคราวนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า ทั้ง 2 ข้าง ต่างก็ตีความเข้าข้างตัวเอง รัฐบาลบอกว่า โอ้โห คนมาเลือกตั้ง ตั้ง 20 ล้านคน ส่วน กปปส. บอกว่า คนมาเลือกตั้ง แค่ 20 ล้านคน นึกออกไหมครับ ตัวเลขเดียวกัน แล้วตกลง 20 ล้านคน มันมาก หรือมันน้อย 

ถ้าหากเปรียบเทียบครั้งที่แล้วคนมาใช้สิทธิ์ 35 ล้านคน มันน้อยลงตั้ง 15 ล้านคน นี่คือ มุม กปปส. แต่ในมุมรัฐบาลบอกว่า กปปส. รณรงค์ ไม่ให้คนไปเลือกตั้ง คนยังมาเลือกตั้ง ตั้ง 20 ล้านคน คือ มันเป็นเรื่องที่มองคนละมุม แล้วจะมาทะเลาะกันทำไม 

ประเด็นคือ รัฐบาลเอง ก็ไปเหมาว่า คนที่ไปเลือกตั้ง คือ ผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งไม่จริง เพราะมีคนจำนวนมาก ที่ไปกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ กปปส. บอกว่า คนไม่ไปเลือกตั้ง อยู่ข้าง กปปส. อันนี้ ก็ไม่จริงทั้งหมด เพราะมีคนจำนวนมาก ที่เขาไม่ไปเพราะเหตุผลอื่น แต่ทั้งคู่ ก็ต่างเอาเรื่องนี้มาตีความเข้าข้างตัวเอง 

-เหตุการณ์ 26 มกราคม ขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือ เข้าใจได้หรือไม่ 

เขาคงต้องการแสดงออกในทางการเมือง รัฐบาลก็อยากจะกลับไปสู่สภาพก่อนหน้ายุบสภา 9 ธ.ค. 56 เพราะตำแหน่งรักษาการ ทำไรไม่ได้ มันเหมือนออกทะเลไปเรื่อยๆ ต้องกลับสู่ที่ตั้ง ต้องทำตัวเลข ส.ส. ให้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ 

ในทางกลับกัน กปปส. ก็ต้องหาทางให้ไม่ถึงให้ได้ ต้องขัดขวาง ซึ่ง ผมเข้าใจว่า เป็นเรื่องการเมือง อยู่คนละข้าง แต่การเมืองก็ต้องมีกติกาอยู่นะ ต้องมีขอบเขต และผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยไม่ต้องคิดเหมือนกัน ไม่ต้องรักกัน ไม่ต้องเข้าใจกันก็ยังได้ สำคัญที่สุดต้องเคารพกันว่าอีกคนที่คิดต่างจากเรา เขาเป็นเจ้าของประเทศ คือ ถ้าเคารพกันแล้ว ต่อให้คิดต่างกัน ก็ยังสามัคคีกันได้ 

เรื่องพื้นฐานคือความเคารพกันว่าอีกคนมีสิทธิในความเป็นเจ้าของประเทศที่เท่ากับเรา เพียงแต่ว่า การเมืองแบบแบ่งข้างต้องการชนะ บางทีทำให้เลยเถิดไปสิ่งที่ไม่ควรเกิด 

แต่สุดท้ายแล้ว “ประชาธิปไตย” จะเป็นทางออก เพราะทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะออกมาจากประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ทุกรัฐบาลมีสิทธิทำผิดได้หมด แต่ระบอบที่รัฐบาลทำผิด แล้วประชานสามารถทักท้วงรัฐบาลได้ก็มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นนะครับ 

ย้ำอีกครั้ง รัฐบาลในทุกระบอบ มีสิทธิทำผิดได้หมด แต่ประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ระบอบเดียว ที่เราจะทักท้วงได้ อยู่ร่วมประเทศกันได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน และผมคิดว่า เรามาไกลแล้ว ต้องเดินไปต่อ ไม่มีระบอบไหน ที่ทำให้เราอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน มีความขัดแย้งก็ไม่ต้องฆ่ากัน ก็มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นครับ

ถ้ามองในทางบวก ประชาชนคนไทยกำลังฝึกฝนประชาธิปไตยกันอยู่ ผมคิดว่า แม้สัญญาณความรุนแรงอาจจะมีมากขึ้น แต่ผมเข้าใจว่า ถ้าไม่นับกลุ่มฮาร์ดคอร์รุนแรงหรือแกนนำแล้ว ถ้าดูประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย เขาเหมือนกันมากกว่าต่างกันนะครับ ผมคิดว่า โดยทั่วไปแล้วเรามีความอดทนกันมากขึ้น อดทนที่จะอยู่ร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน ผมว่าเรามีมากขึ้นนะครับ

ความตื่นตัวเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่เคารพกันจะเป็นความรุนแรง ความตื่นตัวเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมว่าสงครามกลางเมือง คือ พลเมืองที่ตื่นตัวทั้ง 2 ข้างจับปืนมาฆ่ากันนะครับ ฉะนั้น ความตื่นตัวอย่างเดียวไม่ได้ ตื่นตัวเป็นเรื่องดี แต่ต้องอยู่ในวิถีทางของประชาธิปไตยด้วยครับ


ที่มา   matichon.co.th

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา