วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

พท. แถลงถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

                               

วันที่ 23 มกราคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. นายพนัส ทัศนียานนท์ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. แถลงถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายโภคินกล่าวว่า กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย ด้วยเหตุผล

1.รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งกรณีมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตราพระราชกฤษฎีกา

2.เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง ที่การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น ยังไม่เกิดขึ้น กลับจะไปทูลเกล้าฯให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป

3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.78 บัญญัติให้เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งหมายถึงเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่ใช่การเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศตามรัฐธรรมนูญ ม.108

4.กกต. ไม่มีสิทธิเสนอเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ ม.214 บัญญัติให้ทำได้เฉพาะกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา ครม. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น กรณีที่เป็นปัญหานี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับ กกต. เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจดังได้กล่าวมาแล้วไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ

5.ประเด็นเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง เป็นความคิดเห็นของ กกต. ที่มีอำนาจจัดการการเลือกตั้ง แต่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 จึงมิใช่ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

6.ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำสั่งที่ 23/2553 เมื่อ 30 มิ.ย.53 วินิจฉัยไว้แล้วว่า จะต้องเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าเป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับการใช้และการตีความกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง 2 องค์กร

7.ดูเหมือนเป็นขบวนการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายและองค์กรต่างๆ ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งฝ่ายที่ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบต่อผลทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น

8.เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า มีบุคคลหลายกลุ่มยืนคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการกับนายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. และแนวร่วม ว่ามีการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั่นคือ ล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องไปหลายคำร้องโดยไม่ไต่สวน ทั้งๆ ที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลกว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

9.ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในส่วนของ กกต. เช่น ค่าพิมพ์บัตร ค่าเตรียมการต่างๆ และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายของพรรคและผู้สมัครที่ใช้จ่ายไปแล้ว

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา