สื่อเยอรมันฟันธง ตุลาการภิวัตน์ไทยเป็นต้นแบบรัฐประหารในศตวรรษที่ 21 ขัดขวางทางออกตามกรอบรัฐธรรมนูญ คาดศาล-องค์กรอิสระรับลูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาล วินิจฉัยตั้ง 'สภาประชาชน' ชอบด้วยกฎหมาย
สำนักข่าวของประเทศเยอรมนี Deutsche Welle รายงานอ้างความเห็นของนักสังเกตการณ์ชาวเยอรมันซึ่งทำงานในกรุงเทพ คาดการณ์บทจบของวิกฤตการเมืองรอ
บล่าสุดในไทย ว่า กองทัพจะไม่ยึดอำนาจ แต่ศาลและองค์กรอิสระจะใช้ความชอบด้วยกฎหมายแบบจอมปลอม รับรองการตั้งสภาประชา
ชน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
@ ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ถ่ายรูปเซลฟีของตัวเองด้วยไอแพ็ด บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 15 มกราคม 2557
รายงานของ DW บรรยายว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตการเมืองมาแล้วหลายรอบ สังคมไทยเกิดความแตกแยกอย่างลึกซึ้ง มีการแบ่งขั้วเป็นฝ่าย "คนเสื้อแดง" กับ "คนเสื้อเหลือง" ในรอบล่าสุดนี้ ฝ่ายแรกสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยของรักษาการนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายหลังสนับสนุนขบวนการต่อต้านของอดีตส.ส. สุเทพ เทือกสุบรรณ และสถาบันพระมหากษัตริย์
ในความความขัดแย้งรอบนี้ กองทัพลังเลที่จะเข้าแทรกแซงการเมือง ดังที่เคยเข้ายึดอำนาจหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อเกิดวิกฤตที่ไม่สามารถหาทางออกทางการเมืองได้
มาร์ก แซ็กเซอร์ นักวิเคราะห์ในมูลนิธิ Friedrich-Ebert Stiftungกล่าวว่า กองทัพไทยมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์และคนเสื้อเหลือง แต่ในช่วงสองสามปีมานี้ ความใกล้ชิดกับคนเสื้อเหลืองได้ลดน้อยถอยลงด้วยเหตุผล 2 ประการ ข้อแรก นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ ข้อสอง กำลังพลจำนวนมากเป็น "ทหารแตงโม" กำลังเหล่านี้อาจสนับสนุนรัฐบาลเมื่อเกิดรัฐประหาร
นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า การยึดอำนาจจะทำให้กองทัพตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างสูง เวลานี้ ภายในกองทัพเกิดการแบ่งขั้ว และคนเสื้อแดงก็มีการจัดตั้งรวมตัวกันดีขึ้น การทำรัฐประหารอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง
แซ็กเซอร์ บอกว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องส่งรถถังออกมาวางกำลังในกรุงเทพ การยึดอำนาจไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว การรัฐประหารจะทำโดยศาลและองค์กรอิสระแทน
"สิ่งที่เราได้เห็นในประเทศไทย เป็นต้นแบบของรัฐประหารในศตวรรษที่ 21 เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ และตบตาประชาชนไทยเอง ฝ่ายเสื้อเหลืองจะใช้ยุทธวิธีสร้างความชอบด้วยกฎหมายแบบจอมปลอม" แซ็กเซอร์ กล่าว
คนเสื้อเหลืองมีบทบาทครอบงำสถาบันต่างๆ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลยุติธรรม
สถาบันเหล่านี้กำลังพยายามทำให้รัฐบาลเป็นผู้ร้าย เพื่อขัดขวางการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
"ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกำลังพยายามขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยปกติ เพื่อให้สถานการณ์ดำเนินไปจนถึงจุดที่ไม่มีทางออกอย่างอื่นนอกจากการแต่งตั้งสภาประชาชน ตามที่ฝ่ายต่อต้านต้องการ ในท้ายที่สุด สภาประชาชนจะเผยโฉม ราวกับว่าเป็นสถาบันที่ชอบด้วยกฎหมาย" แซ็กเซอร์วิเคราะห์แนวโน้ม.
ที่มา : Deutsche Welle
ภาพ : AFP
http://news.voicetv.co.th/thailand/94204.html