วานนี้(26 ม.ค.)ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อเวลา 16.30 น. ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต ปฏิบัติหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานโฆษกศรส. กล่าวว่า ในการเจรจาขอเปิดพื้นที่สถานที่ราชการเพื่อให้บริการประชาชน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีความสำคัญในการให้บริการประชาชน โดยกลุ่มที่ 1 เป็นส่วนราชการที่ตั้งอยู่บน ถ.แจ้งวัฒนะ เช่น กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมการกงศุล และหน่วยงานด้านการสื่อสารของประเทศ กลุ่มที่ 2 เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มที่ 3 เป็นส่วนราชการที่ตั้งอยู่ใน ซ.อารีย์ ถ.พหลโยธิน เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เป็นต้น โดยในวันนี้ (27 ม.ค.) จะมีการเดินทางไปขอเปิดพื้นที่สถานที่ราชการใน 2 พื้นที่
คือ รอบเช้าจะไปที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมการกงศุล เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาประชาชนไม่สามารถทำหนังสือเดินทางได้ รวมถึงส่งผลต่อชาวต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการรับรองเอกสารสำคัญต่างๆที่กระทรวงต่างประเทศ จำเป็นต้องออกใบรับรองสิทธิต่างๆให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ศรส.จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ในส่วนของรอบบ่ายจะเดินทางไปขอเปิดพื้นที่ส่วนราชการของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งตั้งอยู่ภาใยในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะจัดรถบัสให้สื่อมวลชน 1 คัน ส่วนอีกคันจะเป็นของทีมเจรจา ซึ่งจะเป็นการสนธิกำลังของทหารและตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. เป็นส่วนหน้าในการเจรจา นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยผู้แทนกองทัพ ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ร่วมเจรจาด้วย
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการเจรจามี 8 ประการ คือ 1.จะจัดผู้บริหารระดับสูงที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ ร่วมกับทหาร ตำรวจ และสื่อมวลชน เข้าไปร่วมชุดเจรจา 2.ชุดเจรจาจะขอพบแกนนำผู้ชุมนุม โดยให้สื่อมวลชนร่วมรับฟังการเจรจาทุกขั้นตอน 3.ชุดเจรจาจะแจ้งวัตถุประสงค์ของการเจรจาว่าไม่ใช่การขอคืนพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการขอเปิดพื้นที่สถานที่ราชการเพื่อเปิดบริการให้ประชาชน 4.จะชี้แจงให้ผู้ร่วมชุมนุมเห็นว่าสถานที่ราชการเป็นสถานที่ที่ต้องให้บริการที่จำเป็นหลายเรื่องต่อการดำเนินชีวิต 5.ชุดเจรจาจะขอให้แกนนำการชุมนุมคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน 6.ชุดเจรจาจะให้แกนนำผู้ชุมนุมเห็นว่าการปิดสถานที่ราชการจะมีความผิดตามกฎหมายใดบ้าง ซึ่งความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีโทษสูงและมีอายุความยาวนาน 7.จะให้เวลาแกนนำการชุมนุมได้พิจารณาให้คำตอบเป็นเวลา 24 ชม. โดยจะให้แกนนำผู้ชุมนุมนำข้อเสนอกลับไปทบทวน และ8.ชุดเจรจาจะเชิญสื่อมวลชนเป็นสักขีพยานในการเจรจากับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามการเจรจาครั้งนี้ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ขอให้เป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการเป็นหลัก เพราะจะเข้าใจถึงปัญหามากกว่า โดยจะได้อธิบายเหตุผลความจำเป็นให้แก่แกนนำผู้ชุมนุมฟัง ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายว่าในการดำเนินการต่างๆขอให้เป็นไปตามกฎหมาย ยึดหลักสากลไม่ใช้ความรุนแรง และให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการขอคืนพื้นที่สถานที่ราชการ
ที่มา matichon.co.th