วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

.เมื่อรัฐประหารแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น -Chaturon Chaisang (จาตุรนต์ ฉายแสง)


“...เมื่อรัฐประหารแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการ สังคมไทยจะอยู่ในสภาพที่ใครก็คุมไม่ได้ อยู่กันไม่เป็นสุข ขัดแย้งรุนแรงไม่สิ้นสุด ประเทศจะบอบช้ำไปอีกนาน

นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำ อำมาตย์และผู้นำกองทัพต้องการให้เกิดขึ้นแน่หรือ”.

จาตุรนต์ ฉายแสง
7 มกราคม 2557

ที่มา: ถอดรหัสมหากาพย์การเมืองไทย: สิ่งที่ชนชั้นนำ- อำมาตย์ต้องการจะเกิดขึ้นได้มีเพียงทางเดียวคือต้องรัฐประหาร (ตอนที่ 4)
เมื่อลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการ จะเกิดขึ้นได้ก็มีเพียงทางเดียว คือต้องรัฐประหารเท่านั้น

ด้วยเหตุผลโดยสรุปคือ

1.การแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาถูกปิดกั้นไปหมดแล้ว
2.การปฏิรูปประเทศที่สุเทพกับพวกเสนอมีเนื้อหาที่ล้าหลังยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้อีกมาก และไม่ได้เสนอให้ปฏิรูปโดยวิถีทางในระบบรัฐสภา
3.การเคลื่อนไหวของสุเทพกับพวกจงใจสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอย่างชัดเจน
4.การลงดาบขององค์กรอิสระจะทำให้รัฐบาลทรุดลง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วได้ในทันที และไม่สามารถสร้างระบบที่มีหลักประกันว่าอำนาจจะอยู่ในมือชนชั้นนำและอำมาตย์ได้อย่างสมบูรณ์

ถ้าสถานการณ์พัฒนาต่อไปในทิศทางที่เป็นอยู่ ก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นการรัฐประหาร

เราเห็นบทบาทของผู้นำกองทัพมาแล้วในแต่ละช่วงแต่ละตอนของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ในรอบนี้บทบาทของผู้นำกองทัพก็ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร

ผู้นำกองทัพเริ่มต้นด้วยบอกว่าต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งก็เหมือนที่รัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายเคยเจอมาแล้ว ต่อมาก็แสดงท่าทีขึงขังเหมือนกับจะไม่เอากับสุเทพกับพวกเสียแล้ว ทั้งยังประกาศด้วยว่าการรัฐประหารทำไม่ได้แล้ว เพราะจะเกิดความเสียหายตามมา แต่ต่อมาก็เปลี่ยนไปอีก คือให้ความร่วมมือกับรัฐบาลแบบจำกัดมาก จนกระทั่งในที่สุดก็บอกว่าไม่ปิดไม่เปิดประตูปฏิวัติรัฐประหาร

ล่าสุดบอกว่าไม่ยืนยันว่าจะไม่ปฏิวัติ

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสอนเราว่าแม้ผู้นำกองทัพจะประกาศว่าจะไม่ทำรัฐประหารอย่างแน่นอน หลังจากนั้นไม่นานก็กลับทำรัฐประหาร แล้วนับประสาอะไรกับเมื่อผู้นำกองทัพประกาศว่าไม่ปิดไม่เปิดประตูปฏิวัติรัฐประหารเล่า โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารจะไม่ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกมากหรือ

ถ้าจะเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในอดีต จะพบว่าเวลานี้ก็ใกล้จะครบเงื่อนไขที่จะเกิดการรัฐประหารเข้าไปทุกทีแล้ว

เรื่องคอรัปชั่นนั้นอาจจะยกขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่มีน้ำหนัก เพราะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการคอรัปชั่นทั้งหลายก็มาจากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มักใช้เป็นข้ออ้าง ถึงแม้ไม่มีกรณีใดที่อ้างได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ก็มีการนำเอาเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้โจมตีกล่าวหาฝ่ายรัฐบาลกันอย่างหนักมาโดยตลอด

เรื่องที่น่าจะถูกใช้เป็นข้ออ้างมากที่สุดในคราวนี้ก็คือ สภาพที่กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ปกครองบริหารไม่ได้ เกิดความขัดแย้งรุนแรงและสูญเสียมากขึ้น จนจำเป็นที่กองทัพต้องเข้าแทรกแซง

บ้านเมืองนี้มีการใช้หลักเหตุผลที่แปลกประหลาดอยู่ว่า สำหรับรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับสนับสนุนของชนชั้นนำและอำมาตย์ ผู้นำกองทัพจะช่วยรัฐบาลรักษากฎหมายหรือแม้แต่ทำเกินกว่ากฎหมายจนถึงขั้นปราบประชาชนก็ได้

แต่สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เมื่อมีปัญหาจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงเพียงใดก็ตาม ผู้นำกองทัพก็จะ "วางตัวเป็นกลาง"

แล้วก็มีหลักเหตุผลต่อไปว่าหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องรับผิดชอบ

สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะตกเป็นเป้านิ่ง เนื่องจากสังคมเกิดสภาพที่แยกแยะไม่ได้ระหว่างการรักษากฎหมายกับการใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายถูกมองว่าใช้ความรุนแรงอยู่ฝ่ายเดียว และเมื่อเกิดความรุนแรงและความสูญเสียขึ้น รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

จะเห็นว่าด้วยตรรกะเหตุผลแบบนี้ การเคลื่อนไหวของสุเทพกับพวกจึงสร้างความเสียหายได้อย่างไม่มีขีดจำกัดโดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อกฎหมาย สร้างเงื่อนไขให้ผู้นำกองทัพอ้างเป็นเหตุในการยึดอำนาจได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ปัญหาคือเมื่อรัฐประหารแล้วชนชั้นนำและอำมาตย์ก็จะไม่ได้สิ่งที่ต้องการอยู่ดี

การรัฐประหารจะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก จะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง

สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการนั้นคือ ระบบการปกครองที่การเลือกตั้งจะไม่มีความหมาย ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดให้ใครเป็นรัฐบาล ไม่สามารถเลือกได้ว่าอยากได้นโยบายอย่างไรในการบริหารประเทศ ที่มาและการดำรงอยู่ของรัฐบาลจะขึ้นกับชนชั้นนำและอำมาตย์ ไม่ขึ้นกับประชาชน

นี่คือระบบที่ล้าหลัง เคยใช้มาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน

แล้วประชาชนไทยที่ผ่านการเรียนรู้ถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความหมายของการเลือกตั้ง ประโยชน์ของการแข่งขันทางการนโยบายของพรรคการเมืองจะยอมหรือ

ถ้าประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารและระบบที่จะถูกสร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร ผู้นำกองทัพจะปราบไหวหรือ

ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมาคือ ชนชั้นนำและอำมาตย์รวมถึงผู้นำกองทัพจะเอาสุเทพกับพวกไปไว้ไหน และจะจัดการกับพวกนี้อย่างไร

สุเทพกับพวกได้เติบใหญ่มีอิทธิฤทธิ์จนใครก็คุมไม่อยู่แล้ว ระบบการปกครองที่จะสร้างขึ้นใหม่ รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งกันขึ้นมา จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ต้องถามสุเทพกับพวกบ้างหรือ แน่ใจแล้วหรือว่าจะตรงกัน

ปัญหาใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ หากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเป็นเพราะสุเทพกับพวก หรือต้องเป็นไปตามความต้องการของสุเทพกับพวก ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าหากใครต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ก็ให้ใช้วิธีเดียวกันกับสุเทพและพวกคือ ใช้วิธีการนอกระบบ ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงตามอำเภอใจ หรือใช้กำลังและความรุนแรง

เมื่อรัฐประหารแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการ สังคมไทยจะอยู่ในสภาพที่ใครก็คุมไม่ได้ อยู่กันไม่เป็นสุข ขัดแย้งรุนแรงไม่สิ้นสุด ประเทศจะบอบช้ำไปอีกนาน

นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำ อำมาตย์ และผู้นำกองทัพต้องการให้เกิดขึ้นแน่หรือ.


“...เมื่อรัฐประหารแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการ สังคมไทยจะอยู่ในสภาพที่ใครก็คุมไม่ได้ อยู่กันไม่เป็นสุข ขัดแย้งรุนแรงไม่สิ้นสุด ประเทศจะบอบช้ำไปอีกนาน

นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำ อำมาตย์และผู้นำกองทัพต้องการให้เกิดขึ้นแน่หรือ”.

จาตุรนต์ ฉายแสง...ดูเพิ่มเติม

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา