วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

ดอกไม้กลางดงม็อบ "หมอแอร์" พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล




การชุมนุมของมวลมหาประชาชนในพื้นที่ 7 จุดทั่วกรุงเทพฯ ดูเหมือนไม่จบลงง่ายๆ ด้านเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง ศอ.รส. หรือศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ก็ออกมาแถลงไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งทำให้หลายคนเครียด

แต่ถ้าได้เห็นหน้า "หมอแอร์" หนึ่งในทีมโฆษก ศอ.รส.แล้ว มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ "อยากเป็นคนไข้ของหมอแอร์" ขึ้นมาทันที

ระหว่างที่มวลชน กปปส.ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จู่ๆ ก็มีสาวหน้าหวานร่างเล็กปรากฏตัวในชุดสีกากี เธอเป็นหนึ่งในทีมเจรจาของตำรวจ

"เหมือนใช้น้ำเย็นเข้าลูบ" จากสถานการณ์อันคุกรุ่น ก็เริ่มปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และมวลมหาประชาชน

"พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล" หรือ "หมอแอร์" มีภารกิจหลักเป็นแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ เข้าตรวจทุกเช้าวันพุธ-พฤหัสฯ และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่ประชาชนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

และเมื่อมีการชุมนุม หมอแอร์บอกว่า "งานเยอะ"

"ตั้งแต่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตำรวจทั่วประเทศทำงานหนักขึ้น เพราะนอกจากภารกิจประจำที่ต้องปฏิบัติไม่ให้บกพร่องแล้ว ยังมีภารกิจเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการชุมนุม" หมอแอร์เล่า และว่า ภารกิจเพิ่มเติมคือหนึ่งในทีมโฆษก ศอ.รส. รวบรวมข้อมูลข่าวสาร เพราะในยุคสงครามข้อมูลข่าวสาร ต้องติดตามตลอดโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร

นอกจากนั้น แพทย์สาวหน้าหวานยังรับหน้าที่เป็นตัวกลาง ประสานงานระหว่างตำรวจและโรงพยาบาล รวมถึงเป็นหนึ่งในทีมเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม กปปส.ด้วย

"เรายังทำงานร่วมกับทหาร บางวันไปประชุมที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เรียกว่าภารกิจไม่แน่นอนเลยค่ะ ช่วงนี้เร่ร่อน (หัวเราะ)" หมอแอร์กล่าวอย่างอารมณ์ดี

หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาและน้ำเสียงหวานๆ ของหมอแอร์ในทีวี ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในรายการทีวี อาทิ รายการเลิฟ ไลฟ์ ไอดอล ช่องไอทีวี, คลับเอ็กซ์ทางช่อง 3, อมยิ้ม ช่อง 3, สบายแอดไนน์ ช่อง 9 และคนละดาวเดียวกัน ทางไทยพีบีเอส

ยิ่งมีม็อบ งานจึงหนักเป็น 2 เท่า แต่ตำรวจสาวร่างเล็กคนนี้ยังทำธุรกิจกับเพื่อน เปิด The Air Clinic คลินิกผิวหนังที่มีบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ บุคลิกภาพ เพื่อปรับปรุงพฤติกรรมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

หลังจากเสร็จประชุมในช่วงเช้า หมอแอร์เจียดเวลามาให้สัมภาษณ์ พูดคุยทุกเรื่องราวที่เจ้าตัวเอ่ยปากพร้อมเสียงหัวเราะ "นี่ซักหมอจนพรุนเลยนะ"

พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล เป็นลูกสาวคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องหญิง 5 ชาย 1 ของ "กำนันกิมจิว" อดีตกำนันตำบลปรือ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และ "นางวิภาวรรณ" นายกเทศมนตรีเทศบาล""""""" เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2521 ที่บ้านนิคมปราสาท

เนื่องจากมีเชื้อสายจีน รูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณ จึงแตกต่างจากสาวอีสานทั่วไป

เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวาณิชย์นุกูล จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์

เห็นหน้าสวยหวานอย่างนี้ หมอแอร์บอกว่า ไม่ใช่เด็กเรียน ซึ่งกิจกรรมโปรดคือเป็นผู้กำกับละครเวทีของโรงเรียน

"ชอบครีเอตค่ะ แต่คุณแม่พูดกรอกหูตั้งแต่เด็กว่า "หนูแอร์อยากเป็นหมอๆ" ด้วยความที่เรียนดีจึงสอบเข้าแพทย์ให้พ่อให้แม่" พ.ต.ท.พญ.อัญชุลีเล่า

หลังจากคว้าปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น มาให้ครอบครัวภูมิใจ จึงเลือกเรียนด้านจิตเวช ซึ่งแอบขัดใจพ่อกับแม่เพราะท่านทั้งสองอยากให้เป็นอายุรแพทย์มากกว่า

"วันที่เลือกเรียนจิตเวชเป็นการเลือกในสิ่งที่เราชอบจริงๆ จนมีความเชี่ยวชาญทั้งจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพราะเรียนต่อด้านจิตแพทย์ทั่วไปที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ปี แล้วต่อด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 2 ปี"

จบ 2 บอร์ดในวัย 29 ปี ซึ่งถือว่าเร็วหากเทียบกับแพทย์แขนงอื่น เพราะสาขาจิตเวชเป็นสาขาที่ขาดแคลน สามารถศึกษาต่อได้ทันที

ท่ามกลางภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสถานการณ์การเมือง ลองฟังวิธีจัดการความเครียดจากหมอแอร์หน่อยเป็นไง

เป็นหมอเพื่อแม่ ?

จริงๆ ค่อนข้างเรียนดี แต่ทำกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่มัธยม ชอบจัดการแสดงของโรงเรียน เป็นพิธีกร เล่นละครเวที เป็นตัวแทนโต้วาที ส่วนใหญ่เป็นผู้กำกับ ชอบครีเอตว่าห้องเราจะแสดงอะไร จึงอยากเรียนสายนิเทศศาสตร์

สมัยนั้นมีสอบเทียบ เรียนจบมัธยมปลายตั้งแต่ ม.4 เทอม 1 เอ็นทรานซ์ตอน ม.4-5 เลือกคณะแพทย์หมดเลย เหมือนสอบเล่นๆเพราะอยากมาเที่ยวกรุงเทพฯก็ไม่ติด คงคล้ายเด็กทั่วที่ยังไม่รู้ว่าเรียนอะไรดี แต่แม่ฝังหัวตั้งแต่เด็กว่า "น้องแอร์อยากเป็นหมอๆ" (หัวเราะ) มาสอบติดแพทย์ตอนสอบโควต้าของคณะแพทย์ ม.ขอนแก่น

ตอนสอบหมอได้ ทั้งเพื่อนและครูต่างก็ช็อก เพราะดูแล้วเราน่าจะไปสายนิเทศศาสตร์มากกว่า แต่ที่บ้านคาดหวังให้ลูกสักคนเป็นหมอ จึงเหมือนสอบให้พ่อให้แม่แบบไม่คิดว่าจะติด

ต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ?

ยากไหม... ไม่ยากเกินความสามารถนะ แต่ต้องมีเทคนิคหมอไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ แต่อ่านหนังสือเป็น จับจุดได้ อ่านรอบเดียวก็จำได้โดยไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งตรงนี้เด็กหลายคนทำไม่เป็น เทคนิคคือต้องเชื่อมั่นว่าเราสมองดี เป็นการสะกดจิตตัวเองว่าเราฉลาด เราทำได้ เพราะความคิดเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมองแบบนี้วิธีคืออ่านจับใจความให้ได้ รู้ว่ากำลังอ่านเรื่องอะไร อ่านเสร็จแล้วปิดหนังสือ พูดออกมาให้ได้ว่าอ่านเรื่องอะไร ทำได้แสดงว่ามีความเข้าใจ จับจุดได้ บางทีอาจช็อตโน้ตสั้นๆ ประกอบเก็บไว้

ตกหลุมรักจิตเวช?

ตอนเรียนผ่านทุกแผนก สู ศัลย์ เมด เด็ก อายุรกรรม รู้สึกไม่ใช่แนวตัวเอง หลายครั้งอยากซิ่ว แต่ไม่อยากทำร้ายจิตใจพ่อแม่เพราะคนรู้ทั้งตำบลว่าเราเรียนหมอ ไม่จบคงเกิดข้อครหา จึงตั้งใจเรียน ระหว่างนั้นทำกิจกรรม จัดค่ายเยาวชน ทำให้มีความสุขในการเรียน

เมื่อผ่านบอร์ดจิตเวชแล้วประทับใจ สนุก เป็นศาสตร์ที่น่าค้นหา "เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้" และส่วนตัวตั้งแต่เด็กๆ เวลาใครมีปัญหามักจะมาปรึกษาเรา พื้นเดิมเป็นผู้รับฟังที่ดี

การได้คุยกับคนคนหนึ่งเหมือนได้อ่านหนังสือ ยิ่งคุยยิ่งรู้จักตัวตนเขามากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น สะท้อนว่าที่คนเราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาเพราะมีบางอย่างอยู่ใต้จิตใจ

สมัยนั้นจิตเวชยังไม่ฮิต แล้วที่บ้านยังอยากให้เป็นหมอสายหลักเช่น หมอเด็ก อายุรกรรม ศัลยกรรม พวกสถาบันความงามเห็นหน้าตา ผิวพรรณดีก็มาทาบทามให้เรียนจบแล้วไปเป็นหมอของเขา แต่เราชอบจิตเวชจึงอยากเรียนด้วยใจรัก

ตอนแรกอาจลังเลสงสัย แต่เลือกจิตเวชจากความชอบของเราจริงๆ

เส้นทางบันเทิง? 

เริ่มจากเป็นจิตแพทย์ จากนั้นรายการต่างๆ ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ ไปให้ความรู้ในรายการ พอมีข่าวคนโรคจิตก็มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ พอเป็นที่รู้จักจึงถูกทาบทามไปเป็นพิธีกรและทำมาเรื่อยๆ

หมอแอร์มีสไตล์ของตัวเอง กล้าพูด ไม่ใช้ศัพท์วิชาการทำให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย อย่างรายการคนละดาวเดียวกันที่เลิกผลิตแล้วนั้นมีคำถาม คำตอบที่คาดไม่ถึง นี่เองเป็นความสนุกของจิตเวช-จิตวิทยา

ชอบทุกรายการ อย่างคลับเอ็กซ์, อมยิ้ม, คนละดาวเดียวกัน ที่ยังถ่ายทำอยู่มีรายการอมยิ้ม เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมเด็ก, รายการทุกข์ชาวบ้าน และคลิปเตือนภัยต่างๆ ออกอากาศช่วงบอกต่อ ในรายการเตือนภัยใกล้ตัว ช่องทีเอ็นเอ็น

จัดค่ายเยาวชนอีกด้วย?

"สมาร์ท ทีน" เป็นค่ายที่สร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่น ให้รักและเห็นคุณค่าในตัวเอง มีจุดหมายในชีวิตและสามารถอยู่ในสังคมให้ได้ สำหรับผู้ใหญ่อาจมองบางเรื่องของวัยรุ่นเป็นเรื่องเล็ก เช่น มีคนมาด่าในเฟซบุ๊กต้องทำอย่างไร สอนให้กตัญญูต่อพ่อแม่ ให้เขาเข้าใจ

ทำมาได้ 2-3 ปี ในช่วงปิดเทอม จัดขึ้นที่โรงพยาบาลตำรวจ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไป ม.1-6 อาจารย์อาชีวะที่รู้ จะเชิญไปอบรมให้กลุ่มเสี่ยงด้วย

จะดุในสิ่งที่จำเป็นต้องดุ ไม่อย่างนั้นแล้วเด็กจะเล่นไปเรื่อย

ดูเหมือนภารกิจประจำรัดตัว แต่ยังเจียดเวลาไปเปิดคลินิก?

เป็นคลินิกเสริมความงามที่หุ้นกับเพื่อน ซึ่งเราสอดแทรกจิตวิทยาไปด้วย เช่น เรื่องการลดน้ำหนัก ใช้หลักพฤติกรรมบำบัด ให้ความรู้เรื่องโภชนาการ ควบคู่กับการควบคุมอาหาร ปรับปรุงบุคลิกภาพ นำความรู้ทางจิตเวชมาผสมผสานโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่

คนที่มาเสริมความงามเองก็เครียด กังวล เราเป็นจิตแพทย์สามารถพูดคุย ให้ข้อมูล คำแนะนำด้วยความจริงใจ

เป็นจิตแพทย์ มองคน "ขาด" ไหม?

มีคนถามเยอะเหมือนกัน บางคนกลัวว่าเข้ามาคุยแล้วจะโดนสแกน (หัวเราะ)

คนเรามีหลายหัวโขน หมอเองไม่ได้เป็นจิตแพทย์ตลอดเวลา วิเคราะห์จิตใครได้ตลอดเวลา แค่ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นจิตแพทย์ คือ เรามองคนออก ดูว่าคนนี้จริงใจ คนนี้เจ้าชู้ บางคนเยอะ ซึ่งที่ผ่านมายังดูไม่ผิดนะ (ยิ้ม) อาจมีดูผิดบ้างเพราะความรักทำให้คนตาบอดไม่เว้นแม้กระทั่งจิตแพทย์ (หัวเราะ) เวลาเรารัก เราหลง มันทำให้เกิดอคติเข้าข้างตัวเอง เข้าข้างคนที่เรารัก

สวยครบสูตรแบบนี้มีแฟนยัง?

มีดูๆ คุยๆ อยู่ ก็มีคนส่งขนมจีบมาหลายคน ตอนเด็กๆ ไม่ใช่คนสวยเว่อร์ แต่เป็นที่รู้จัก

สเปกเปลี่ยนไปตามอายุ ตอนเด็กชอบรุ่นพี่ พอแก่มาชอบเด็กๆ (หัวเราะ) อายุเป็นเพียงตัวเลข ดูที่ความคิดมากกว่า ความคิดความอ่านดี คุยกันรู้เรื่อง สุขุม รอบคอบ เป็นผู้นำ เพราะบางคนอายุน้อยแต่เป็นผู้ใหญ่

บางคนกลัวว่ามาจีบแล้วจะกดดันหรือรู้สึกลำบากเพราะเราเป็นจิตแพทย์ แต่เราไม่ได้เป็นหมอตลอดเวลา บางทีคนที่เข้ามาอาจพบความน่ารักจนลืมจุดนั้นไปก็ได้

หากไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบตำรวจ?

เวลาอื่นก็แต่งตามอารมณ์ ตั้งแต่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ จนถึงแอ๊บแบ๊ว แล้วแต่อารมณ์ บางวันอยากหวาน บางวันอยากเปรี้ยว แต่ต้องอยู่ในขอบเขต อาจใส่แค่กระโปรงสั้น กางเกางขาสั้น ไม่ถึงกับใส่สายเดี่ยว

เพราะเราต้องเคารพในบทบาทหน้าที่ เป็นหมอต้องรักษาภาพลักษณ์เหมือนกัน

การเมืองเหตุแห่งความเครียด?

ความเครียดของคนคนหนึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุภายนอก คือ สภาพอากาศ การจราจร สิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัว การเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจ ส่วนสาเหตุภายใน คือ ตัวเราเอง ทุกคนมีเรื่องที่ทำให้เครียด ขึ้นอยู่กับว่าเราจัดการกับความเครียดดีแค่ไหน

คนที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดี แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันก็ไม่เครียด แต่คนที่มีภูมิต้านทานความเครียดต่ำ มีอะไรนิดหน่อยก็เครียด คนเราจึงต้องฝึกจิตใจให้สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง ทนกับความเครียดและความผิดหวังได้

ผู้ชุมนุมเองก็มีความเครียด และวิธีจัดการต่างกันไป?

ประชาชนส่วนหนึ่งอาจไปร่วมชุมนุมเพื่อปลดปล่อยความเครียด ได้แสดงพลัง แสดงจุดยืน ได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ การร่วมชุมนุมจึงเป็นการปลดปล่อยความเครียดแบบหนึ่ง

แต่บางทีต้องระวังเช่นกัน เพราะบางคนแทนที่จะไปแล้วฟิน ได้เจอกำนันแล้วมีความสุข กลับเครียดกว่าเดิม จากการฟังคำปราศรัยที่มีลักษณะยั่วยุ รู้สึกโกรธแค้น นอนไม่หลับ เพราะเครียดมากกว่าเดิม ฉะนั้น ต้องบริหารจัดการกับความเครียดของตัวเองให้ดี

ที่สำคัญ อย่าลืมดูแลคนที่บ้าน หาเวลาพักบ้าง จากที่เคยรับข้อมูลทั้งวันก็เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น พูดคุยเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง จะลดความเครียดลงได้ หากอินมากความเครียดอาจเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและวาจา ระเบิดอารมณ์ จนควบคุมตัวเองไม่ได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เครียด?

ตำรวจแต่ละคนมีหน้าที่ต่างกันไป ทุกคนล้วนเหนื่อยและเครียด อย่างกองร้อยควบคุมฝูงชน แต่ละคนต้องจากลูกเมียมานอนเต็นท์คราวละ 10 วัน ตำรวจที่อยู่สำนักงานบางคนไม่ได้กลับบ้านเพราะงานหนัก อีกทั้งไม่รู้ว่าการชุมนุมจะจบลงเมื่อไหร่ ทุกคนต้องทำงาน อดทน ก็เครียด

อีกอย่าง ตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคม ถูกด่าว่าต่างๆ นานา

แนะวิธีจัดการความเครียดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ?

ขอให้ภูมิใจในหน้าที่ของเรา ไม่ว่าใครจะด่าว่าเราเป็นขี้ข้าใครล้วนเป็นเรื่องของเขา ขอเพียงรู้ว่าเราทำหน้าที่ของเราเพื่ออะไร หยุดความคิด ถอยความคิดออกมาจากสถานการณ์นั้นๆ อย่ามีอารมณ์ร่วม แต่ให้มองอย่างเข้าใจว่าประชาชนมาเพื่ออะไร แล้วจะรู้สึกดีขึ้น

เนื่องจากเป็นจิตแพทย์จึงอยู่ในทีมเจรจาต่อรอง ตอนที่ผู้ชุมนุมมาหน้า ตร.แล้วตะโกนด่าตำรวจ หมอก็ยืนฟังเฉยๆ คิดว่าเขาไม่ได้ด่าเรา มองอย่างเข้าใจว่าเขามาเพื่อเรียกร้อง ถ้ามีอารมณ์ร่วมคงรู้สึกโมโห โกรธ อย่างเพื่อนหมอ ใส่เสื้อกาวน์ไปเดินขบวน ถ้ามองว่าทำไมต้องทำจะยิ่งคุยกันไม่ได้ ต้องมองอย่างเข้าใจว่าทำไมเขายอมเหนื่อย เดินตากแดด เมื่อนั้นจะเห็นข้อดีของคนอื่น รู้สึกชื่นชมว่าเพื่อนมีจุดยืน รักชาติ เพราะแต่ละคนมีความคิดเห็นและการรับรู้ต่างกัน

ใครจะมองตำรวจว่าเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าตัวเราเอง

มองอย่างจิตแพทย์?

อาจเพราะเป็นจิตแพทย์ จึงมองทุกคนอย่างเข้าใจว่าทำไมเขาคิดและทำแบบนั้น เหมือนเป็นผู้ดูความเป็นไปของสังคมอยู่ตรงกลาง ไม่ตัดสินใคร

บางคนมองว่าหมอแอร์เลือกข้าง แต่เป็นข้าราชการต้องอยู่ข้างประชาชน ขอเพียงทำหน้าที่ของตัวเอง แม้ใครจะมองว่าเราเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา




หน้า 13 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2557 



เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา