วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง : ข้อเสนอที่มองไม่เห็นหัวคน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สปป


ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง : ข้อเสนอที่มองไม่เห็นหัวคน 


วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์


ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ โดยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ และได้มีการสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปเป็นส่วนใหญ่ คงมีบางเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง และมีข้อเรียกร้องจากบุคคล องค์กร หน่วยงาน และสถาบันบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป โดยอ้างปัญหาเกี่ยวกับการจัดการการเลือกตั้ง และมีกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการขับไล่รัฐบาล ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อน ซึ่งเป้าหมายก็คือ การต้องการให้อำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญขึ้น และดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปสู่ระบอบการปกครองที่ตนมุ่งประสงค์นั้น

เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ และขาดเหตุผลความชอบธรรมอย่างยิ่ง ดังที่จะได้ชี้ให้เห็น ดังต่อไปนี้

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๘ กำหนดให้กระทำเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายในไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันและไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวไว้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โดยที่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย จึงเท่ากับว่าบัดนี้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังรอคอยที่จะใช้อำนาจของตนอยู่ในวันที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่องค์กรใดๆ ในการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ให้เลื่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้นเลยได้

การเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทั้งๆที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้น หรือมีปัญหาใดๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จึงเป็นการเรียกร้องหรือเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ในขณะนี้กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การเสนอให้คณะรัฐมนตรีกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเช่นนี้ เป็นการเสนอที่ไร้ความรับผิดชอบ

๒. มีผู้กล่าวอ้างว่าหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในวันเลือกตั้ง หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆขึ้น ก็จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง ดังนั้นการเลื่อนการเลือกตั้งเสียตั้งแต่ขณะนี้จึงเหมาะสมถูกต้องแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้ออ้างที่อำพรางความต้องการที่แท้จริง คือ ความต้องการที่จะขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการและการตั้งคณะรัฐมนตรีนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง หากถึงวันเลือกตั้งแล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถไปออกเสียงลงคะแนนได้ ไม่ว่าจะเป็นการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด เจ้าหน้าที่ที่จัดการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจประกาศการงดลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๘

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสามารถกระทำได้ตามเหตุที่กฎหมายกำหนดซึ่งต้องพิจารณาเป็นหน่วยเลือกตั้งไป ไม่ใช่เอาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีขึ้นในวันเลือกตั้งหรือวันที่ใกล้เคียงกันก่อนวันเลือกตั้ง และอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งนั้นมาเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งประเทศออกไป

๓. นอกเหนือที่อาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังมีผู้กล่าวอ้างเช่นกันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ นั้น อาจเป็นโมฆะด้วยเหตุผลต่างๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลที่ในบางเขตเลือกตั้งไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง

ผู้เขียนเห็นว่าการไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้นั้นเป็นความรับผิดชอบของ กกต. เพราะ กกต.ไม่ขยายระยะเวลาการสมัครรับเลือกตั้งออกไป ทั้งๆที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ หลังจากการเลือกตั้งหากปรากฏว่าเขตเลือกตั้งใดยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวนในภายหลัง ในกรณีที่ยังไม่สามารถเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ คณะรัฐมนตรีรักษาการย่อมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

๔. มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งในฐานะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการนานเกินไป ดังนั้นผู้ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหลาย พึงสำเหนียกไว้ด้วยว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะต้องอยู่รักษาการนานต่อไปด้วย จนกว่าคณะรัฐมนตรีคณะใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

ด้วยเหตุนี้ ความพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง ความพยายามให้เลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป จึงเท่ากับการยอมให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องอยู่ในตำแหน่งนานต่อไปเช่นกัน หากผู้ใดเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ (ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับให้กระทำได้) หรือแม้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ภายในใจต้องการเช่นนั้น ข้อเสนอเช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเสนอที่เรียกว่า “เอาแต่ได้” เป็นข้อเสนอที่น่าชิงชังรังเกียจ เพราะผู้เสนอมองไม่เห็นหัวของผู้คนจำนวนมหาศาลที่รักสันติภาพ เคารพความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย และต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามวิถีทางของอารยะชน ไม่ใช่วิถีทางของอันธพาล..."


ที่มา 

ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง : ข้อเสนอที่มองไม่เห็นหัวคน


วรเจตน์ ภาคีรัตน์
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์...อ่านต่อ

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา