วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

การเลื่อนการเลือกตั้ง ใคร ได้ประโยชน์



หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเสนอออกพระชากฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ตามที่ได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด ในมาตรา 108 และในวรรคสอง กำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปนับภายใน 45-60 วัน นับตั้งแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเคาะออกมาเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 มกราคม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งที่สมบูรณ์

และตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง กกต.ต้องมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เท่านั้น!!!!

แต่เมื่อ กกต.ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงว่ามีหลายพื้นที่ที่การเลือกตั้งอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคใต้ เพราะอย่างน้อยๆ มี 28 เขต ที่ผู้สมัครไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ และได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย โดย กกต.อ้างการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ กกต.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเลื่อนการเลือกตั้ง 

สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมติเอกฉันท์ว่า วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรสามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ และวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากว่า การกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง

หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่มีบัญญัติว่าให้อำนาจใครเลื่อนการเลือกตั้ง

และถ้าเลื่อนเลือกตั้ง ใครจะเป็นคนออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เอาอำนาจอะไรมาออก อีกทั้งหากยังไม่มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใครรับผิดชอบ

หากออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เท่ากับว่า หมายเลขที่จับกันมา รวมถึงการลงพื้นที่หาเสียงไปแล้วของพรรคอื่นๆ เป็นโมฆะทั้งหมด ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว ค่าป้าย ค่าแผ่นผับ ใบปลิว ค่าน้ำมัน ใครรับผิดชอบ พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเหล่านี้ต้องฟ้องศาลแพ่ง เอาผิด กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว รวมถึงการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิ ที่พรรคการเมืองพึงมี

ตลอดจนการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต่างประเทศ ที่มีการลงคะแนนไปแล้ว จะทำอย่างไรกับบัตรที่มีการกาไป ต้องโละทิ้งทั้งหมดหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจะกระทบสิทธิประชาชนชาวไทย ที่อาศัยอยู่ต่างแดนหรือไม่ 

การเลื่อนการเลือกตั้ง ด้วยการที่ตุลาการยกกรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ถูกเลื่อนให้เป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่กรณีนี้นำมาเทียบเคียงกันไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เกิดขึ้นแล้ว และในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้บอยคอตการเลือกตั้ง ทำให้มีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กลงเลือกตั้ง โดยพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งในท้ายที่สุด ศาลสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังมิได้เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมาตรา 108 ในบทสรุปของประเด็นที่ 1 ที่ผู้ร้องระบุว่า วันเลือกตั้งที่กำหนดไว้ จะเลื่อนวันเลือกตั้งได้หรือไม่ นั่นว่า มาตรา 108 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ มิได้บังคับเป็นเด็ดขาดว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้เลยนั้น ในช่วงท้ายของวรรคสอง ระบุว่า และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ตรงนี้มากกว่าที่ศาลและ กกต.จะหยิบมาใช้ เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นมากกว่า การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549

กกต.มีการยกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 76 ที่ระบุว่า ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อ กกต.โดยด่วน

วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน

วรรคสามระบุว่า ให้ กกต.ตั้งกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว เว้นแต่ กกต.จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด

วรรคท้ายระบุว่า ในการดำเนินการตามวรรคสาม ถ้า กกต.เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 8 ได้ ให้ กกต.จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องนำระยะเวลาตามวรรคสามมาใช้บังคับก็ได้

ดังนั้นจะเห็นว่าในมาตรา 76 ระบุถึงการเกิดปัญหาที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง และให้กรรมการประจำหน่วยเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ ไม่ใช่การกำหนดให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศ 

แต่กระนั้น หากมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจริง พรรคประชาธิปัตย์จะหมดสิทธิในการบอยคอต เพราะใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 91 (2 ) ระบุว่า พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาความเป็นพรรคการเมือง เมื่อไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

และในวรรค 2 ระบุว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือมีผู้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนว่ามีเหตุตามมาตรานี้ ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใดจริงให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าพรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง 

ดังนั้น การที่พรรคใดก็ตามไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน หรือ 8 ปีติดต่อกัน จะเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องยุบพรรค แต่เป็นการสิ้นสภาพไปโดยตัวมันเอง 

หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ถูกกำหนดขึ้น 180 วัน หากพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง เพราะเสี่ยงที่พรรคจะสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองทันที แต่กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. และมวลมหาประชาชนจะว่าอย่างไร เพราะยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศตามความต้องการ

คำตอบสุดท้าย ทางเดียวที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบพรรค ไม่ขัดใจกำนัน ไม่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกติกานั้นเสีย

ดังนั้น หนทางแห่งการฉีกรัฐธรรมนูญ มีทางเดียวคือ "ปฏิวัติ" เว้นแต่พรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะไม่ลงเลือกตั้งอีกครั้ง ให้พรรคสิ้นสภาพการเป็นการเมือง เพราะในวรรคสาม ของมาตรา 91 ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคที่ถูกคำสั่งสิ้นสภาพ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายกเลิกประกาศได้...

และเมื่อนั้นประชาชน จะได้เห็นบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง.... 

หรือพรรคประชาธิปัตย์ จะยอมหักกับกำนัน เพื่อรักษาประชาธิปไตย 

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้...... 

หน้า 8 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2557 

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา