วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ปูดึงศาลรธน. ถกวันเลือกตั้ง คนไทยต่างแดน หย่อนบัตรแล้ว


"ปู"เชิญ ทุกฝ่ายหารือ ทาง ออกเลือกตั้ง ให้พงศ์เทพแจกเทียบทั้งศาลรธน. กฤษ ฎีกา ทุกพรรครวมทั้งปชป.-กปปส. สมชัยโยนอีก ให้นายกฯ คุยกับปธ.กกต.ก็พอ ยอมรับใช้ม.93 มาเทียบเคียงเพื่อเลื่อนเลือกตั้ง เลขาฯกกต.เผยอาจ ส่งให้ศาลรธน.ตีความ นักวิชาการ-พท.ชี้ม.93 ใช้หลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้วได้ส.ส. ไม่ครบ ให้จัดเลือกตั้งซ่อมภายใน 180 วัน วรเจตน์จวกเสนอเลื่อนเลือกตั้ง ไม่เห็นหัวประชาชน ย้ำไม่มีกฎหมายรองรับ พิเชษฐชี้ปชป.อาจต้องเว้นวรรค 3-4 ปี เหตุเดินเกมพลาด ตร.ล่ามือยิงที่ทำการปชป.



นายกฯให้ถกข้อเสนอกกต.


เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงพร้อมนำสำเนาเอกสารที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรื่อง ขอเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปลงวันที่ 12 ม.ค. มาประกอบการแถลงว่า ตามที่มีข่าวว่ากกต.ทำหนังสือถึงนายกฯ วันที่ 12 ม.ค. เรื่องตามเอกสาร โดยกกต.ทั้ง 5 ลงนาม เนื้อหาระบุถึงปัญหาการจัดการเลือกตั้ง แต่ย่อหน้าก่อนสุดท้ายระบุว่า กกต.จึงเห็นชอบให้ประธานกกต.ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตามพ.ร.ฎ. ดังกล่าว และกกต.เสนอความเห็นว่าสมควรให้รัฐบาลเสนอพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ทุกพรรคได้หารือร่วมกันและได้ข้อยุติในการเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้ จริง อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ กกต.ก็ยังคงจัดการเลือกตั้งต่อไปตามอำนาจหน้าที่

นายสุรนันทน์กล่าว ว่า นายกฯ ได้หารือกับรัฐมนตรีบางคน อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ นาย วราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรฯ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีข้อยุติในเบื้องต้น นายกฯ และที่ประชุมเห็นว่าตามที่กกต.เสนอมานั้นยังมีข้อประเด็น ข้อสังเกตและข้อที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือมีการประชุมกัน จึงมอบให้นายพงศ์เทพเชิญกลุ่มบุคคลต่างๆ มาร่วมประชุม อาจแยกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดการเลือกตั้ง คือ กกต. กลุ่มพรรค การเมือง กลุ่มที่ประสงค์ให้มีการเลือกตั้ง กลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และกลุ่มหน่วยงานสนับสนุนการเลือกตั้ง อาทิ นายกฯและครม.



เชิญศาลรธน.ทุกฝ่ายร่วมหารือ

เลขาธิการ นายกฯ กล่าวว่า หวังว่า 5 กกต.จะตอบรับ รวมทั้งมีตัวแทนพรรคซึ่งน่าจะเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจ รวมทั้งเชิญพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ตัวแทนกปปส. ตัวแทนนปช. ตัวแทนแนวร่วมเครือข่ายต่างๆ อาทิ กลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา กลุ่ม 7 องค์กรภาคธุรกิจ ทปอ. หน่วยงานรัฐ และอาจเชิญองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ เพื่อหารือข้อเสนอของกกต. นี่คือการเชิญด้วยความจริงใจ นายกฯอยากให้เชิญทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ถ้าแต่ละส่วนส่งตัวจริงที่มีอำนาจตัดสินใจได้มาร่วมจะดีมาก

นายสุ รนันทน์กล่าวว่า สิ่งที่จะหารือคือข้อสังเกตของกกต. เกี่ยวกับพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง หากเห็นพ้องต้องกันได้ก็เป็นก้าวหนึ่งของการแก้ปัญหาในทางบวกในความขัดแย้ง ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนที่กปปส.ประกาศไม่เจรจาใดๆ ด้วยนั้น ขอเชิญให้มาร่วม ถ้าทุกคนมีเจตนาที่ดี ลดความขัดแย้ง รัฐบาลก็เปิดกว้างตลอด นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาหารือกัน ถ้าทุกคนมา นายกฯ ก็นั่งเป็นประธานเอง ส่วนเลื่อนวันเลือกตั้งก็ต้องมาคุยกัน เพราะเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออกแต่ต้องมีข้อคิดเห็นร่วมกัน ช่องที่จะออกได้ต้องมาคุยกัน ส่วนการปฏิรูปก็เป็นส่งคู่ขนานกันอยู่แล้ว

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า นายพงศ์เทพได้ลงนาม ในหนังสือเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมหารือถึงข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งของกกต.เรียบร้อยแล้ว พร้อมแนบหนังสือสำนักงานกกต. ที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. โดยนัดหารือวันที่ 15 ม.ค. เวลา 10.00 น. แต่ยังไม่กำหนดสถานที่ โดยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ ในหนังสือระบุเชิญฝ่ายต่างๆ มาหารือรวม 70 ราย ดังนี้ หัวหน้าพรรคทุกพรรครวม 54 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมาตุภูมิ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ กกต.ทั้ง 5 คน เลขาธิการกกต. ผบ.สส. ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผบ.ตร. ผู้ว่าการ สตง. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการ กปปส. และประธาน นปช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ม.ค. จะไม่มีการประชุมครม.ตามปกติที่เคยเกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่าไม่มีวาระสำคัญต้องหารือ แต่นายกฯและครม.บางส่วนจะเดินทางเข้าไปทำงานที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี เช่นเดียวกับวันนี้ แต่หากมีผู้ชุมนุมไปปิดล้อมก็อาจเปลี่ยนแปลงสถานที่อีกครั้งหนึ่ง



สมชัยโบ้ยให้นายกฯถกปธ.กกต.

นาย สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงนายกฯมอบหมายให้นายพงศ์เทพเชิญทุกฝ่ายร่วมหารือในวันที่ 15 ม.ค.นี้เรื่องเลื่อนเลือกตั้งว่า คิดว่ารัฐบาลยังทำไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้รับหนังสือข้อเสนอแนะจาก กกต. เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนายกฯและประธาน กกต. ในฐานะผู้รักษาการ พ.ร.ฎ.ยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่และรัฐบาลได้ทราบถึงกระบวนการในขั้นตอนการจัดการเลือกตั้ง เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนายกฯควรนัดหารือกับประธานกกต. เป็นการเร่งด่วน เพื่อรับทราบปัญหาและร่วมหาทางออกที่เป็นแนวทางเดียวกัน ก่อนจะเชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยกัน เพราะถ้าทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ การหารือกับทุกฝ่ายคงไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ กกต. ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจากรัฐบาล หากได้รับหนังสือเชิญภายในวันที่ 14 ม.ค. จะนำเข้า หารือในที่ประชุมกกต. หากที่ประชุม กกต. เห็นในทางเดียวกันว่า นายกฯกับประธาน กกต. ควรหารือกันก่อนนั้น กกต. ก็คงจะไม่เข้าร่วมเวทีของรัฐบาล



รับใช้กม.เทียบเคียงเสนอเลื่อน

นาย สมชัยกล่าวด้วยว่า หนังสือที่กกต.เสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดการเลือกตั้งใหม่นั้น ไม่ได้ระบุข้อเสนอเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 4 พ.ค. เพราะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ส่วนจะดำเนินการตามข้อกฎหมายได้หรือไม่นั้น เห็นว่ากรณีนี้เทียบเคียงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ที่ระบุว่ากรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมี ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของส.ส. ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรม นูญนี้ภายใน 180 วัน ซึ่งในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ หากยังคงมีการเลือกตั้งต่อไป ก็อาจจะได้ ส.ส. ไม่ถึงร้อยละ 95 เพราะมีเขตเลือกตั้งกว่า 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร กกต.ก็ต้องจัดให้เลือกตั้งจนกว่าจะได้ ส.ส. ครบตามจำนวน ซึ่งระยะเวลาน่าจะเทียบเคียงได้กับข้อกฎหมายนี้ ส่วนจะมีผู้เห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องให้แต่ละพรรคไปหารือร่วมกันว่าเห็นด้วยหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณี พรรคเพื่อไทยขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดี กกต.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกกต.ไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง นายสมชัยกล่าวว่า ไม่กังวล หากใครจะทำอะไรก็ทำไป แต่ในเรื่องที่กกต.ขอไปนั้น ก็ขอให้ทำด้วย



อาจส่งศาลรธน.ตีความ

นาย สมชัยกล่าวด้วยว่า วันที่ 14 ม.ค. มีวาระพิจารณาแก้ปัญหากรณีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่เพียงพอ รวมทั้งประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ส่วนสถานที่ประชุมของกกต. ยังไม่ทราบ เพราะรอฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่ก่อน ส่วนการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา กปน. ร่วมกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รมว.มหาดไทย ในวันที่ 15 ม.ค. จะหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของ กปน. ที่ยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก เพื่อขอความ ร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทยช่วยสนับสนุนข้าราชการในสังกัดมาปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากขณะนี้ กกต.ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐในการสนับสนุนบุคคลมาเป็นกปน. คาดว่าจะใช้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นสถานที่หารือเนื่องจากเป็นสถานที่ที่กระทรวงมหาดไทยย้ายข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

นายภุงชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่กกต. ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งทำความเห็นไปยังรัฐบาลแบบนี้ ส่วนจะตอบกลับมาอย่างไร ต้องให้ทั้ง 5 ของกกต.พิจารณาอีกที และเป็นไปได้ว่าเมื่อ 2 องค์กรมีความเห็นขัดแย้งกัน การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นไปได้



ภท.หนุนทุกฝ่ายร่วมเจรจา

นาย พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรัฐบาลจะเชิญศาลรัฐธรรมนูญไปหารือกรณีกกต.เสนอเลื่อนวันเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้สำนักงานยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการนัดหารือเลื่อนวันเลือกตั้ง ว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย หากมีการเลือกตั้งควรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อประชาชนตัดสินใจแล้วผลการเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ถ้าไม่ยอมรับหรือมีใครสงสัย หรือเกิดข้อโต้แย้งผลการเลือกตั้งก็ไม่จบ จะกลายเป็นเสียเงินงบประมาณอย่างแท้จริง ทางที่ดีจะต้องมีการยอมรับจากทุกฝ่าย ควรตกลงกติกากัน ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว เราจะปล่อยให้บ้านเมืองอยู่กันแบบอึมครึม แบบนี้ไม่ได้ ขอให้มีการประสานไปให้ครบ ทุกฝ่าย อย่าทำเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากกปปส. ไม่ไปเรื่องก็ไม่จบ



มท.1 ยันพร้อมหนุนจัดเลือกตั้ง

นาย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต.ประสานขอหารือเกี่ยวกับการจัดหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ภาค ใต้ ซึ่งตนยินดีสนับสนุนในขอบเขตที่ฝ่าย ปกครองทำได้โดยไม่กระทบกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ปัญหาในภาคใต้คือไม่มีกรรมการประจำหน่วย ทางกระทรวงจะขอความร่วมมือไปยังนายอำเภอให้ประสานคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมา เป็นกรรมการ

เมื่อถามว่าจะหารือถึงกรณีกกต.เสนอความเห็นให้นายกฯ เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปหรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า คงไม่พูดคุย ในประเด็นนั้นเพราะการเลื่อนวันเลือกตั้ง ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีข้อกฎหมายใดที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป มีเพียงบทบัญญัติบางส่วนที่เลื่อนวันลงคะแนนในเขตที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าในบางพื้นที่เท่านั้น

"ถ้าเราเอาตามข้อ กฎหมาย เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปมันจะกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นช่องโหว่ของกฎหมายในอนาคตที่เวลาใครไม่อยากเลือกตั้งก็มาชุมนุมกดดันให้ เลื่อนวัน ให้เลื่อนเลือกตั้ง อย่างนี้จะเสียหายในอนาคต" นายจารุพงศ์กล่าว



ปึ้งชี้ถ้ามีกม.รองรับก็พร้อมเลื่อน

นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.ได้พูดคุยถึงเรื่องการจัดเลือกตั้ง โดยนายกฯ มอบให้ตนตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้ตนได้ประสานให้ผู้ว่าฯ ส่งข้อมูลจาก กกต. 8 จังหวัดภาคใต้ และสรุปรายงานมาถึงตนแล้ว จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง

"ในรัฐ ธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้เราเลื่อนการเลือกตั้ง หากทำได้และมีข้อกฎหมายรองรับเราพร้อมจะดำเนินการ แต่เราไม่สามารถก้าวก่ายอำนาจของ กกต.ได้ หากต้องการให้รัฐบาลทำอย่างไรก็เสนอมา รัฐบาลพร้อมเป็นผู้ส่งสารให้ แต่ไม่มีหน้าที่ไปเลื่อนการเลือกตั้ง วันนี้ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งทั้งหมด จึงต้องรู้หน้าที่ของ ตัวเอง ไม่ใช่โยนเรื่องให้คนอื่นตัดสินแทน เราไม่ได้ปิดประตูและละเลย สิ่งใดที่จะทำ ให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้รัฐบาลพร้อม ร่วมมือ เพราะอยากให้ประเทศเดินหน้าได้" นายสุรพงษ์กล่าว



สถานทูตจัดเลือกตั้งนอกปท.แล้ว

ที่ กระทรวงการต่างประเทศ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ในวันนี้ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ 92 แห่ง ใน 67 ประทศ จัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นวันแรก บรรยากาศเลือกตั้งในทุกพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย หรือการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งรูปแบบการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้เปิดให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ในประเทศ ต่างๆ ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ภายในคูหาที่จัดเตรียมไว้ภายในสถานทูต วัดไทย และชุมชนที่มีคนไทยอาศัยอยู่ และส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์มาให้สถานทูต ก่อนส่งให้สำนักงาน กกต. คัดแยกและส่งไปตามเขตเลือกตั้งต่างๆ เพื่อรอการนับคะแนน

นายเสข กล่าวว่า แม้สถานการณ์ยังมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และรัฐบาลยังไม่มีท่าทีเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้ง ทางกระทรวงจะยังคงจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จนถึงวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนเวลาการเลือกตั้งออกไป กระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมดำเนินการ



เผยต้องย้ายสนง.หนีม็อบ

นาย ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าว ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่าการเตรียมสถานที่ลงคะแนนล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค. ทั้งภาคอีสาน กลางและเหนือไม่มีปัญหา แต่ทั้ง 15 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ จ.ประจวบฯ ลงไป รวมทั้ง กทม. เริ่มประสบปัญหาหลายแห่งเริ่มปฏิเสธการให้กกต. ใช้สถานที่เพราะห่วงว่าจะเกิดความเสียหาย โดยกกต. อาจทำหนังสือสั่งการจากต้นสังกัด รวมทั้งประสานขอสถานที่จากฝ่ายทหาร ไม่ว่ากองทัพ ฐานทัพเรือหรืออากาศ ส่วนใน 8 จังหวัดเดิมที่ไม่มี ผู้สมัคร แต่ต้องเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พบว่ามีการขยายความรุนแรงของแรงกดดันมวลชนจนทั่ว 15 จังหวัดภาคใต้ ทำให้มีปัญหาการแต่งตั้ง กปน. 1.4 แสนคนได้ไม่ครบ รวมทั้ง กทม.อีก 6 พันหน่วยก็เช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่ กปน.จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้ง

นายภุชงค์ยังกล่าวถึงการ ชุมนุมปิดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะของ กปปส.ทำให้กกต.ต้องย้ายสถานที่ทำงานในจังหวัดใกล้เคียงว่า ได้เลือกจังหวัดที่เป็นกลาง ไม่เหลืองไม่แดง อยู่ไม่ไกล กทม. มีระบบขนส่งคมนาคมสะดวก ทั้งทางบกและเครื่องบิน เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ชั่วคราว และขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยปกปิดสถานที่ เนื่อง จากเกรงจะเกิดปัญหาผู้ชุมนุมกปปส. อาจมาปิดล้อมทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ กกต. ส่วนหนึ่งประมาณ 100 คน จากฝ่ายงานอย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน หรือราวร้อยละ 10 ของเจ้าหน้าที่ กกต. ส่วนกลางต้องมาปักหลักอยู่ในจังหวัดดังกล่าว ทำหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ กกต. ในฝ่ายของตนเองที่ทำงานอยู่ที่บ้านในกทม.หรือที่เซฟเฮาส์อีก 2 แห่ง ใน จ.ปทุมธานี อยุธยา ขณะที่ราชภัฏพระนคร บางเขน ซึ่งเดิมเตรียมการไว้ก็ไม่สามารถดำเนินการ เพราะถูก ปิดล้อมไปแล้ว มีแนวโน้มว่าอาจต้องดำเนินการนอกสำนักงาน กกต. แบบนี้จนถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.



วรเจตน์จวกกกต.เสนอเลื่อน

วันเดียวกัน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในฐานะแนวร่วมสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) และคณะนิติราษฎร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของสปป. เรื่อง "ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง : ข้อเสนอที่มองไม่เห็นหัวคน" ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ และขาดเหตุผลความชอบธรรมอย่างยิ่ง ดังที่จะได้ชี้ให้เห็น ดังต่อไปนี้ 1.การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 108 กำหนดให้กระทำเป็นพ.ร.ฎ. ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายในไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้กำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวไว้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันที่ 2 ก.พ. โดยที่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อำนาจได้ตัดสินใจแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย จึงเท่ากับว่าบัดนี้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังรอคอยที่จะใช้อำนาจของ ตนอยู่ในวันที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา ผู้แทนราษฎร และไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่องค์กรใดๆ ในการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ให้เลื่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้นเลยได้

การเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนิน การตราพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้น หรือมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จึงเป็นการเรียก ร้องหรือเสนอแนะให้ครม.ที่รักษาการอยู่ในขณะนี้กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย การเสนอให้ครม.กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเช่นนี้ เป็นการเสนอที่ไร้ความรับผิดชอบ



ชี้ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น

2.มี ผู้กล่าวอ้างว่าหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในวันเลือกตั้ง หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น ก็จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง ดังนั้นการเลื่อนการเลือกตั้งเสียตั้งแต่ขณะนี้จึงเหมาะสมถูกต้องแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้ออ้างที่อำพรางความต้องการที่แท้จริง คือ ความต้องการที่จะขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการและการตั้งคณะรัฐมนตรีนอกวิถีทาง รัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง หากถึงวันเลือกตั้งแล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถออกไปใช้เสียงลง คะแนนได้ ไม่ว่าจะเป็นการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด เจ้าหน้าที่ที่จัดการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจประกาศการงดลงคะแนนในหน่วย เลือกตั้งนั้น และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 78

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสามารถกระทำได้ตามเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นหน่วยเลือกตั้งไป ไม่ใช่เอาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีขึ้นในวันเลือกตั้งหรือวันที่ใกล้เคียงกันก่อนวันเลือกตั้ง และอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งนั้นมาเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้ง ทั้งประเทศออกไป



ชี้"กกต."ไม่เห็นหัวประชาชน

3.นอก เหนือที่อาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังมีผู้กล่าวอ้างเช่นกันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั้น อาจเป็นโมฆะด้วยเหตุผลต่างๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลที่ในบางเขตเลือกตั้งไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้เนื่องจากมีการขัด ขวางการเลือกตั้ง ตามความเห็นตนเป็นความรับผิดชอบของ กกต. เพราะกกต.ไม่ขยายระยะเวลาการสมัครรับเลือกตั้งออกไป ทั้งๆที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ หลังจากการเลือกตั้งหากปรากฏว่าเขตเลือกตั้งใดยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวนในภาย หลัง ในกรณีที่ยังไม่สามารถเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ครม.ที่รักษาการย่อมมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

4.มีข้อ สังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากที่ยุบสภาผู้ แทนราษฎรแล้วในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งใน ฐานะรักษาการนานเกินไป ดังนั้นผู้ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหลาย พึงคิดไว้ด้วยว่า หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เท่ากับว่าครม.รักษาการก็จะต้องอยู่รักษาการนานต่อไปด้วย จนกว่าครม.คณะใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ หากผู้ใดเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ให้ครม.รักษาการต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ (ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับให้กระทำได้) ข้อเสนอเช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเสนอที่เรียกว่า "เอาแต่ได้" เป็นข้อเสนอที่น่าชิงชังรังเกียจ เพราะผู้เสนอมองไม่เห็นหัวของผู้คนจำนวนมหาศาลที่รักสันติภาพ เคารพความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย และต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามวิถีทางของอารยะชน ไม่ใช่วิถีทางของอันธพาล



นักวิชาการชี้ม.93 ใช้หลังเลือกตั้ง

ด้าน นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกกต. เสนอรัฐบาลเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 4 พ.ค.57 โดยอ้างมาตรา 93 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 180 วัน หลังวันยุบสภา ว่า ถ้าอ้างมาตรา 93 หมายความ ว่าเป็นกรณีที่มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ได้ จำนวนส.ส.ไม่ครบ เช่น วันที่ 2 ก.พ. มีการเลือกตั้งแล้วได้ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 90 ก็ต้องเลือกตั้งต่อไปเพื่อให้ได้ส.ส.ครบจำนวน ดังนั้นหลักการเบื้องต้นคือวันที่ 2 ก.พ. นี้ จะต้องเลือกตั้งก่อน จะเลื่อนการเลือกตั้งไม่ได้ แต่พอเลือกแล้วพบว่าได้ส.ส.ไม่ครบก็เลือกตั้งต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ส.ส.ครบจำนวน

"ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ หลายคนชอบพูดว่าเลื่อนการเลือกตั้งได้ ถ้าเกิดกรณีแผ่นดินไหว หากเป็นเช่นนั้น เห็นได้ชัดว่าเลื่อนได้ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เอาเรื่องความไม่สงบมาเป็นเหตุผลการเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลื่อนการเลือกตั้งไม่สามารถเลื่อนตามใจชอบ ในแง่นี้ถ้าตีความในแบบที่เป็นประชาธิปไตย ถือว่าการเลือกตั้งเลื่อนไม่ได้" นายสมชายกล่าว



แนะกกต.ใช้สติปัญญาบ้าง

นาย สมชายกล่าวด้วยว่า หากบางพื้นที่มีปัญหา กกต.ก็ต้องพยายามให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่ หมายความว่ากกต.ต้องใช้สติปัญญาเพิ่มมากขึ้น ว่าจะจัดการเลือกตั้งอย่างไร ไม่ให้เหมือนการสมัครรับเลือกตั้งแล้วทำให้มี ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ที่ผ่านมากกต.ไม่ได้ใช้สติปัญญาอะไรเลย ทั้งที่เป็นหน้าที่ของกกต.โดยตรง ถ้าคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถจัดการเลือกตั้งก็ควรลาออก เพราะข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งไม่มีฐานรองรับในรัฐ ธรรมนูญ และการเลื่อนออกไปจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

"เรากำลังพูดเรื่อง เลื่อนการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ยังมีคนจำนวนมากที่รอการเลือกตั้งอยู่ ถ้าคนกลุ่มนี้ลุกฮือขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น กกต.ต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วย" นายสมชายกล่าว

เมื่อ ถามถึงรัฐบาลจะเชิญทุกพรรคทุกฝ่ายมาพูดคุยเพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง นายสมชายกล่าวว่า ต่อให้เห็นร่วมกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย รวมถึงกปปส.ก็เลื่อนการเลือกตั้งไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ใช่กติกาของแค่ 2 พรรค หรือแค่ของกลุ่มใด แต่เป็นกติกาการเมืองของสังคมไทย ต่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันก็ทำไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด และกกต.จะตีความแบบตามใจชอบไม่ได้ ทั้งนี้หลังยุบสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 108 ระบุว่าต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดแบบนี้เพื่อไม่ให้มีรัฐบาลรักษาการที่นานเกินไป



พท.ย้ำไม่มีกม.ให้เลื่อนลต.

ที่ พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกกต.ทำหนังสือขอให้นายกฯ เลื่อนการเลือกตั้งว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ เพื่อขอคำแนะนำ เพราะที่ผ่านมากฤษฎีกาเคยให้ความเห็นว่าไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ การจะให้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง กกต.ต้องบอกเหตุผลว่าจะให้เทียบเคียงกับกฎหมายฉบับใด ประเทศไทยใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร จะไปตีความแบบอีลุ่ยฉุยแฉกไม่ได้ หรือจะโยนให้รัฐบาลไปถามกฤษฎีกาไม่ได้ กกต.ชุดนี้มีผู้พิพากษาจากศาลฎีกา 3 คน ขอให้แนะนำรัฐบาลว่าจะให้ใช้กฎหมายฉบับใดเลื่อนเลือกตั้ง ตนเปิดกฎหมายดูหมดแล้ว ไม่เห็นช่องทางใดเลย ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการเลือกตั้งภายใน 60 วัน จะตกเป็นจำเลยมีความผิดอีก

นาย พิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 108 ระบุต้องมีการเลือกตั้งหลังยุบสภา ภายใน 60 วัน จึงไม่มีทางออกอื่น การเลื่อนวันเลือกตั้งจะทำได้ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ไปแล้ว แต่มีบางหน่วยไม่สามารถเลือกตั้งได้ จึงออกพ.ร.ฎ.เลื่อนการเลือกตั้งในเขตที่มีปัญหาได้ แต่ถ้าจะให้เลื่อนเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดไม่สามารถทำได้ การที่กกต.อ้างว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่การเลื่อนเลือกตั้ง แต่กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทำได้เพราะยังอยู่ในกรอบ 180 วันนั้น เป็นการพูดแบบศรีธนญชัย เล่นการเมืองมากไป เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหลังยุบสภา ไม่ต้องการให้ประเทศถูกแช่แข็งนานเกินไป จึงให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน และการออก พ.ร.ฎ.เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายรองจะกำหนดให้ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้



โวยถูกจ้องโจมตี-ใส่ร้าย

นาย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามโจมตี นายกฯ รัฐบาลและพรรคพื่อไทยในหลายประเด็น โดยระบุนายกฯ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จัดประชุมสัมมนาและใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น ยานพาหนะลงพื้นที่ซึ่งเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งกรณีแจกเงินตำรวจที่อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การเลือกตั้งฯ มาตรา 53 จงใจเพื่อให้ลงคะแนนนั้น ขอปฏิเสธเรื่องดังกล่าว นายกฯ ไม่เคยลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครรายใดหาเสียง ถือเป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อเท็จจริง รวมถึงการแจกเงินให้กับตำรวจ นายกฯ ก็ไม่เกี่ยวข้อง หากนำข้อมูลเท็จมาร้อง ฝ่ายกฎหมายพรรคจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ยื่นเอาผิดข้อหาร้องเท็จกลับทันที

นาย พร้อมพงศ์กล่าวถึงกรณีมีภาพปรากฏทางโซเชี่ยลมีเดียว่ามีผู้สมัครพรรคเพื่อ ไทยปราศรัยและแจกนาฬิกาให้กับประชาชนว่า ตรวสอบพบว่าเป็นภาพตัดต่อหวังมุ่งทำลายพรรคเพื่อไทย เป็นการป้ายสีที่ปัญญาอ่อนที่สุด ทั้งนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคกำชับสมาชิกทุกคนห้ามกระทำผิดพ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ พร้อมทั้งกฎระเบียบของกกต.อย่างเคร่งครัด หากมีใครยื่นเอาผิดพรรคในเรื่องนี้ พรรคจะรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกลับทันที



อภิวันท์ชงตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการหาทางออกจากความขัดแย้งการเมืองขณะนี้ว่า ขอเสนอแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อหาทาง ออกให้ประเทศ มีหลักการคือให้เลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. นายกฯ มาจากการเลือกตั้งอาจเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และให้ทุกพรรคมาป็นรัฐบาล ร่วมกัน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. มาร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อวางแนวทางและกติกาปฏิรูปประเทศร่วมกันในทุกด้าน ทั้งการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาปฏิรูป 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง เสร็จก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

พ.อ.อภิวันท์กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นทางออกในการสร้างความสามัคคี พาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้งได้ ซึ่งได้เสนอเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ในพรรคทราบไปแล้วและผู้ใหญ่ในพรรคก็เห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าพรรคจะไปเสนอต่อพรรคประชาธิปัตย์และกปปส.หรือไม่ และทั้ง 2 จะเห็นด้วยหรือไม่ อยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าวเพื่อหาทางออกให้ประเทศ แนวทางรัฐบาลแห่งชาติเป็นทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ หากให้ ชุมนุมชัตดาวน์กรุงเทพฯ ยืดเยื้อต่อไป มีความ เสี่ยงสูงที่จะเกิดสถานการณ์รุนแรงได้ เพราะจะมีมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ จนเกิด ความสูญเสียมากไปกว่านี้ หากสูญเสียมากๆ อาจเป็นช่องทางให้ทหารมารัฐประหารได้



พิเชษฐ์ชี้ปชป.จ่อหงอย3-4ปี

วัน เดียวกัน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป การเมืองมีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1.มวลชนชนะ ผลคือจะได้ตั้งสภาประชาชน และรัฐบาลคนกลาง พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีส่วนร่วมในสภาประชาชน หรือรัฐบาลคนกลางเลย เพราะมีการประกาศย้ำจาก แกนนำหลายครั้งแล้วว่า เลขาธิการกปปส.จะ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดไป สภาประชาชนและรัฐบาลคนนอกจะเข้ามาปฏิรูป การเมือง โดยต้องไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้องด้วย พรรคประชาธิปัตย์จะต้องว่างเว้นการเมือง ไป 3-4 ปี

2.รัฐบาลชนะ จะมีการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีโอกาสร่วมในสภา ไม่ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งผู้สมัคร อาจต้องเว้นว่างการเมืองไป 3-4 ปี และ 3.มีการรัฐประหาร หากมีการปะทะ นองเลือด จะมีผู้ฉวยโอกาสทำรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์อาจต้องเว้นวรรคการเมืองปีอีก 3-4 ปี เช่นเดียวกัน



ยิงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

เวลา 02.30 น. วันที่ 13 ม.ค. พ.ต.ท.สมาน ครองสิน พงส.ผนพ.สน.บางซื่อ รับแจ้งเหตุมีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่ร้านกาแฟ A BIG SEAT ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถนนเศรษฐศิริ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. จึงรุดตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.บางซื่อ ที่เกิดเหตุบริเวณกระจกร้านกาแฟ พบรอยกระสุนไม่ทราบชนิดกว่าสิบนัด ตรวจสอบกล้องวงจรปิดของพรรค เวลา 02.12 น. พบรถต้องสงสัย ขับมาทางถนนเศรษฐศิริ มุ่งหน้าถนนพระราม 6 เมื่อผ่านจุดเกิดเหตุคนร้ายชะลอรถ จากนั้นลดกระจกด้านท้ายลง ก่อนกราดยิงใส่เข้ามาที่ร้าน รวม 13 นัด แล้วขับรถหลบหนีออกไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการสร้างสถานการณ์ แต่ยังไม่ได้ตัดประเด็นอื่นทิ้ง จึงต้องตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง และนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป

จากการสอบสวน นายรังสรรค์ เรืองสมบูรณ์ รปภ.ประจำพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ขณะเกิดเหตุกำลังเฝ้าเวรรักษาความปลอดภัยอยู่หน้าพรรค ได้ยินเสียงดังคล้ายประทัดยักษ์ดังขึ้นนับสิบครั้ง ก่อนเห็นรถเก๋ง สีบรอนซ์เทาขับออกไป เมื่อมาดูที่กระจกร้านพบว่าถูกยิงแตกละเอียด จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาตรวจสอบ



วงจรปิดจับภาพรถมือปืนชัด

เวลา 10.30 น. กองพิสูจน์หลักฐานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มาพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ จากนั้นเวลา 10.50 น. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.เดินทางมายังที่เกิดเหตุ โดยมีแกนนำพรรคต้อนรับและพาไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุ

จากนั้นพล.ต.อ.เอก ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากนครบาลว่า เกิดเหตุคนร้ายใช้รถยนต์โตโยต้าวีออสเป็นพาหนะ และใช้อาวุธปืน สันนิษฐานว่าเป็นปืนอัตโนมัติไม่ระบุขนาด เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามีคนร้ายไม่ต่ำกว่า 2 คน คือ คนขับรถ 1 คน และคนที่ยิงซึ่งนั่งอยู่ประตูด้านซ้าย แต่ต้องไปตรวจสอบความชัดเจนของกล้องที่จับภาพไว้ได้ ซึ่งผบ.ตร.กำชับให้ตนลงมาเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนจับกุมคนร้ายในคดีนี้ เบื้องต้นเป็นการใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ ไม่ถึงขั้นมุ่งเอาชีวิต เพราะก่อเหตุในเวลากลางคืน และวิถีกระสุนลักษณะยิงจากรถออกไปมุมสูง เป็นไปในลักษณะข่มขู่มากกว่า ส่วนรายละเอียดขอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานก่อน เชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นคงมาจากเรื่องการเมือง ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ตนได้เรียนกับผอ.พรรคประชาธิปัตย์แล้วว่า ทางบก.น.2 คงประสานให้มีจุดตรวจเพิ่มความเข้มข้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก ครั้ง ส่วนคดียิงปืนที่หน้าบ้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชา ธิปัตย์ ที่จ.ตรังนั้น คนร้ายไม่ได้มีเจตนายิงเข้าไปในบ้าน หรือยิงข่มขู่นายชวน สอบสวนพบว่าเป็นกรณีเหตุส่วนตัว ทะเลาะวิวาท ไม่พอใจผู้หญิงที่เขาไปติดพันด้วย



"จุติ"ทำบุญสะเดาะเคราะห์พรรค

ที่ พรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ในวันที่ 14 ม.ค. เวลา 10.00 น. พรรคจะทำบุญสะเดาะเคราะห์หลังพรรคถูกกราดยิง นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาทำบุญเลี้ยงเพล ที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม ถือเป็นการทำบุญเพื่อนำความดีมาสู้กับความชั่ว เอาบุญมาสู้กับบาป เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ชาติหน้าอย่าได้เจอกันอีก โดยจะเชิญผู้บริหารพรรค อดีตส.ส.พรรค ประธานสาขาพรรค สมาชิกพรรคที่มีเวลามาร่วมทำบุญครั้งนี้

ด้าน น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้ประสาน สน.พญาไทและสน.บางซื่อ ขอให้ดูแลความปลอดภัยรอบนอกพรรค โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะตั้งจุดตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อตรวจตรารถที่ผ่านมาบริเวณพรรค ส่วนพรรคจะจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมภายในพรรค พร้อมติดไฟส่องสว่างเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้หลายจุดอยู่แล้ว และเก็บหลักฐานการกราดยิงได้เป็นอย่างดี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุคนร้ายกราดยิงร้านกาแฟ หน้าที่ทำการพรรคว่า สาเหตุน่าจะมาจากการข่มขู่ทางการเมือง ซึ่งตำรวจต้องคลี่คลายหาความจริงให้ได้โดยเร็ว ที่ผ่านมามีคนของพรรคถูกข่มขู่เช่นนี้แล้วหลายราย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มีการกล่าวหาพรรคจัดฉากเหตุการณ์ครั้งนี้นั้น อยากถาม ว่าจัดฉากเพื่ออะไร เพราะพรรคไม่ได้ประโยชน์ ขณะนี้เป็นห่วงสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจมีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหา วันนี้หลายฝ่ายเสนอให้แก้ปัญหา แต่รัฐบาลพยายามปิดกั้น เช่นไม่ยอมให้เลื่อนเลือกตั้งตามที่กกต.เสนอ อย่างไรก็ตามหากเลื่อนเลือกตั้งก็ต้องตกลงกันว่าต้องมีเงื่อนไขนำสู่การ เลือกตั้งที่เรียบร้อย ทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ คงไม่ใช่การเถียงกันแค่ว่าเลื่อนหรือไม่ หรือเลื่อนไปเมื่อใด



ปปช.แจ้งข้อหาจำนำข้าว16ม.ค.

รายงาน ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากกรณีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ระบุถึงความคืบหน้าการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่าจะมีความคืบหน้า ในการแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องภายในเดือนม.ค.นี้นั้น ปรากฏว่าคณะทำงานได้เตรียมสรุปผลการไต่สวนเบื้องต้นว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ใครบ้างในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ซึ่งเป็นองค์คณะในการไต่สวน

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า การไต่สวนโครงการรับจำนำข้าว มีผู้ถูกร้อง อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งเป็นรมว.พาณิชย์ และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์
 

ทีมา ข่าวสด
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE9UWTJOalV6T1E9PQ==&sectionid=

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา