วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

อย่ายอมแพ้รัฐประหารเงียบ ใบตองแห้ง


อย่ายอมแพ้รัฐประหารเงียบ แน่จริง เอารถถังออกมาเลย




เป้าหมายของขบวนการล้มประชาธิปไตย ชัดเจนแล้วว่าต้องการ “รัฐประหารเงียบ” ไม่ใช้กองทัพยึดอำนาจ เว้นแต่เข้าตาจนเป็นหนทางสุดท้าย

พวกเขาเดินสองขา ด้านหนึ่ง กปปส.ใช้วิธีอันธพาล “ชัตดาวน์บางกอก” บุกยึดสถานที่ราชการ คุกคามสังคมให้หวาดวิตกว่าจะรุนแรง อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุมอธิการบดีเข้ามาสอดรับ อ้างว่าจะมีคนบาดเจ็บล้มตาย เสนอให้เลื่อนเลือกตั้ง ขอนายกฯ คนกลาง ฝั่ง กกต.ยุคอดีตพิธีกรบลูสกาย ก็ไม่ปฏิบัติหน้าที่ อ้างแต่ว่าการเลือกตั้งจะไม่สำเร็จ ขยับขาชิ่งอยู่ตลอด ล่าสุด สตง.ยังแส่อีกรายว่าเลือกตั้งไปเสียงบประมาณเปล่า

อย่างนี้ถ้ารัฐบาลจะตัดถนนผ่าชุมโจร แล้วโจรดักปล้น ขัดขวาง สตง.ก็คงบอกว่าเสียงบประมาณเปล่า ยอมแพ้โจรเถอะ

วันที่ 13-14-15 สถานการณ์จะบีบคั้นถึงที่สุด ม็อบไอ้เทือกเปลือกนอกเป็นคนชั้นกลาง คนทำงานคอปกขาว ชาวจุฬา ชาวธรรมศาสตร์ แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ที่อ้างเป็นเครือข่ายคุณธรรม “สันติ” “อหิงสา” อ้างว่าไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แค่เรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง (ถุย!) แต่ไส้ในมีคนใต้อารมณ์เดือดพล่าน ยกพลขึ้นมาจาก 14 จังหวัด และมีการ์ดส่วนหนึ่งเป็นทหาร อาวุธครบมือ สถานการณ์ปกติมีทหารแทรกอยู่ในการ์ดราว 200 คน (ผู้บังคับบัญชาอ้างว่ามากันเอง มารับจ้างนอกเวลาราชการ) วันที่ 13-14 คงระดมมาหมด ฉะนั้นที่ไอ้เทือกบอกว่าเกิดอะไรขึ้นให้สวดมนต์ ขี้หกทั้งเพ

อ่านสถานการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่า คนกรุงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดถนนอย่างสงบ แต่ม็อบ คปท. ซึ่งไอ้เทือกพร้อมปัดความรับผิดชอบว่าสั่งไม่ได้ จะถูกใช้ไปสร้างความรุนแรง ผสมกับการ์ดและพวกฮาร์ดคอร์ปักษ์ใต้ บุกสถานที่ราชการ ปะทะกับตำรวจ แล้วจะมีคนตาย เพราะพวกเขามีอาวุธ ถ้าตำรวจตายอีก ตำรวจอาจคุมอารมณ์ไม่ได้ คนนะครับ ไม่ใช่พระอิฐพระปูนให้ทุบตี ทำร้าย หรือยิงเอาฝ่ายเดียว ยิ่งกว่านั้นยังต้องระวังตำรวจเป็นหนอน ลูกน้องตำรวจเก่าที่เข้าไปเกาะแมลงสาบหากิน

ไม่ว่าป้องกันอย่างไร ก็เกิดความรุนแรงแน่นอน เพราะคนมันหาเรื่อง ไม่วันแรก ก็วันที่สอง วันที่สาม พวกเขาจะบุกจะยึดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนตายๆๆๆ ส่วนพวกที่อ้างว่า “ชุมนุมโดยสันติ” ตามแยกต่างๆ ก็อาจเป็นเป้าปะทะกับประชาชนที่ไม่พอใจ ครั้งก่อนมีแท็กซี่โวยม็อบ ถูกกระทืบหยอดน้ำข้าวต้ม (แต่รสนา โตสิตระกูล บอกว่าไม่เป็นไร) ครั้งนี้แท็กซี่อาจไม่มาเดี่ยว เพราะคนขับรถตู้ คนใช้รถใช้ถนน ก็ไม่พอใจ มีคนจำนวนไม่น้อย โกรธ หงุดหงิด และพร้อมจะระบาย คนสมัยนี้แค่ขับรถปาดหน้าก็ฆ่ากันตาย นี่เป็นใครมาจากไหนมาปิดถนนให้สัญจรไม่ได้ ฉะนั้นอาจมีคนอารมณ์ร้อนยิงใส่ม็อบ ผู้มีคุณธรรมดับดิ้นไป 3-4 ราย แล้วไอ้เทือกก็จะโทษรัฐบาล

สถานการณ์เช่นนี้จะมี “อีแอบ” ที่อ้างตัวเป็นกลาง รักสงบ สันติ อหิงสา ท่องคาถาเมืองไทยเมืองพุทธ ออกมากดดันรัฐบาลให้ยอมแพ้อันธพาล เข้าสู่สถานะเว้นวรรคประชาธิปไตยตามความต้องการจนได้

หรือแม้แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.บางคนที่ไม่มั่นคงในหลัก ก็จะใจอ่อน กลัวเห็นคนตาย โดยไม่เข้าใจว่าถ้าไม่ยึดหลัก อนาคตจะมีคนตายมากกว่านี้

นี่น่าประหลาดมากครับ หลายคนที่ผมคิดว่ายืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยมาตลอด ยังเริ่มไขว้เขว กลัวความ
รุนแรง บอกว่ามีนายกฯคนกลาง มีรัฐบาลแห่งชาติเสียดีไหม คุณไม่คำนึงว่านั่นคือการยอมแพ้ผู้ร้าย หลักการถูกทำลาย ผมไม่เอาครึ่งๆ กลางๆ ไม่เอาคนกลวงโกหกหลอกหลวง ถ้าจะเอาแบบนั้น ให้รัฐประหารไปเลยดีกว่า

มีอย่างที่ไหน รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ มีความผิด แต่พวกเขากลับเรียกร้องให้เว้นวรรครัฐธรรมนูญ เลื่อนเลือกตั้ง เอานายกฯ คนกลาง กันหน้าตาเฉย

“รัฐบาลดื้อรั้นไม่ยอมเลื่อนเลือกตั้งทำให้คนตาย” คือประเด็นที่สื่อกระแสหลักจะโหมกระพือ พวกขาวนวลกว่าต้มจะเรรวน ฉะนั้นต้องรับมือให้ดี ผู้รักประชาธิปไตยต้องยืนหยัดสนับสนุนรัฐบาล ตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้สั่งให้ทหารตำรวจติดอาวุธเข้าปราบม็อบ แต่ม็อบบุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการ บุกเข้าไปแส่หาความรุนแรง สร้างความรุนแรงเอง ถ้าเกิดเหตุมีคนตาย ก็ไม่เหมือนปี 53 ไม่ใช่เหตุผลที่จะเว้นวรรคประชาธิปไตย

รัฐบาลและพลังประชาธิปไตยต้องยืนหยัดให้ถึงที่สุด ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่ใช้ความรุนแรง แม้ท้ายที่สุด ยกนี้อาจแพ้ แต่ก็จะดึงพลังรักสงบ พลังที่สาม ผู้คนตรงกลางๆ ที่ยังพอมีเหตุผล เอือมระอาพวกสุดขั้วสุดโต่ง มาเป็นพลังประชาธิปไตยหรือเป็นแนวร่วม อย่างเช่นพลังสีขาวที่จุดเทียนจนจุดติด อย่างเช่นเครือข่ายนักวิชาการ-ภาคประชาสังคม “2 เอา 2 ไม่เอา” พลังเหล่านี้จะเป็นหอกที่ชอบธรรม ย้อนแทงอำนาจใดก็ตามที่เข้ามาช่วยม็อบไอ้เทือกล้มประชาธิปไตย ไม่ว่ากองทัพ องค์กรอิสระ หรือองค์กรสถาบันใดก็ตาม

ถามว่ารัฐบาลควรยืนหยัดถึงเมื่อไหร่ ก็ยืนหยัดจนชัดเจนแก่ชาวโลกว่า รัฐบาลถูกจี้ให้ออกด้วยอำนาจที่เหนือกว่า หรือไม่เช่นนั้นก็เอารถถังออกมา จะได้ไชโยโห่ร้อง อำมาตยาธิปไตยใกล้ถึงจุดจบเสียทีกลัวไม่รัฐประหาร

รัฐประหารไม่กลัว กลัวไม่รัฐประหาร พูดอย่างนี้ไม่ใช่ซาดิสต์ อยากเห็นการนองเลือด หรือบอกว่ารัฐประหารจะได้สู้ตาย แลกเลือด แตกหัก ล้างบางฝ่ายตรงข้าม
แต่เพราะขั้วอำนาจที่จ้องล้มรัฐบาลเองก็กลัวการรัฐประหาร ม็อบ องค์กรอิสระ ต้อนรัฐบาลเข้ามุม แต่ไม่สามารถเผด็จศึกเสียที เพราะไม่กล้าทำรัฐประหาร

พวกเขารู้ดีว่ารัฐประหารทำง่าย แต่จะปกครองไม่ได้ หาทางลงไม่ได้ จุดจบศพไม่สวย นานาชาติไม่เอาด้วย ผู้นำรัฐประหารครั้งนี้ถ้าต้องลี้ภัย อเมริกา ยุโรป จีน รัสเซีย ไม่ให้อยู่นะครับ แม้แต่พม่าก็ไม่รับ จะไปหาประเทศแอฟริกาแถวป่าซาฟารีหรือ ส่วนใหญ่เขาเป็นประชาธิปไตยกันหมดแล้ว ไม่ได้เป็นคนป่าเหมือนที่พวกท่านคิดว่าคนไทยยังโง่อยู่
รัฐประหารจะต้องฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ผลงานอันบรรเจิด ที่เหล่าเนติบริกร ตุลาการเผด็จการ บรรจงสร้าง จนหารัฐธรรมนูญฉบับไหนหัวคูณเท่านี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีทางร่างได้ชั่วกว่านี้อีกแล้ว ซ้ำยังเล่นเล่ห์ผ่านประชามติแหกตาประชาชน “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” อ้างได้ชั่วกัลปาวสาน

ถ้าฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ก็ร่างไม่ได้เท่าเก่า เพราะจะถูกคัดค้าน ถ้าทำประชามติ ครั้งนี้เผลอๆ จะไม่ผ่านรัฐประหารนอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ ยังต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญด้วย อ้าว ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วจะมีศาลไว้ทำหอกไรละครับ คดีต่างๆ ที่พิจารณาโละทิ้งหมด เช่น เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วจะพิจารณาหาหัวคูณอะไร ก็เป็นอำนาจของรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ที่จะออกประกาศคณะรัฐประหารให้เป็นกฎหมาย (เอา 2 ล้านล้านไปชงเอง) หรือปล่อยให้ตกไป
ฉะนั้นถ้าเกิดรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ยุบศาลรัฐธรรมนูญ เห็นจรูญ อินทจาร, จรัญ ภักดีธนากุล, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สุพจน์ ไข่มุกด์, นุรักษ์ มาประณีต, บุญส่ง กุลบุปผา ฯลฯ ตกงาน แม้ไม่เอารัฐประหาร แต่ผู้รักประชาธิปไตยและมวลชนเสื้อแดง คงไชโยโห่ร้องอย่างสะใจ

เพราะในขณะที่พยายามพิทักษ์ประชาธิปไตย รักษากติกา ไม่ให้อันธพาลมาฉีก เราก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งตุลาการขึ้นไปขี่อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนอย่างเบ็ดเสร็จ “ตุลาการธิปไตย” แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แม้แต่มาตราเดียว แก้เมื่อไหร่ ก็ผิดมาตรา 68 เป็นความพยายามได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบิดาใครทำได้บ้าง แก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แก้ก็คือขัดอยู่ดี แก้ยังไงก็ผิดมาตรา 68 อยู่ดี ตราบใดที่ไม่ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ตีรวนครบ 100 วัน ศาลก็ชี้ว่าประธานใช้อำนาจรวบรัดอยู่ดี

นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ รัฐประหารยังต้องล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ สภาผู้แทนฯ ยุบไปแล้ว วุฒิสภาต้องถูกล้มด้วย แต่พวก 40 ส.ว.คงไม่ตกงาน รสนา โตสิตระกูล, สมชาย แสวงการ, ประสาร มฤคพิทักษ์, ไพบูลย์ นิติตะวัน, คำนูณ สิทธิสมาน ฯลฯ คงหน้าบานยิ้มแฉ่งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กระนั้นก็ไม่แน่เหมือนกัน เราอาจได้เห็นรัฐประหารโดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในบางประเทศเช่น ปากีสถาน รัฐประหารไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ แค่งดใช้บางมาตรา กองทัพอาจจะส่งนายทหารพระธรรมนูญไปศึกษาดูงาน แล้วรัฐประหารโดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ งดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แล้วออกประกาศคณะรัฐประหาร ให้วุฒิสภาสรรหานายกฯ คนกลาง ให้รองประธานนำชื่อทูลเกล้าฯ

แต่ลองนึกภาพว่าถ้ารัฐประหารไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำหน้าที่ต่อไปเพื่อวินิจฉัยว่า ประเทศไทยไม่ควรสร้างรถไฟความเร็วสูง จนกว่าถนนลูกรังจะหมดก่อน ไม่เช่นนั้นจะขัดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ก็คงตลกกันไปใหญ่ อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐประหารผิดมาตรา 68 แล้วศาลท่านก็ตีความว่า มาตรา 68 ใช้กับบุคคลหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ใช้กับรัฐประหารซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ มาตรา 68 ใช้กับรัฐประหารไม่ได้ แต่ ปปช.จะยังใช้ถอดถอน 383 ส.ส. ส.ว.ต่อไป สรุปว่ารัฐประหารไม่ผิด แก้รัฐธรรมนูญผิด
นี่ยกตัวอย่างแค่เรื่องทางกฎหมาย จะเห็นว่าย้อนแย้งกันแค่ไหน แล้วเรื่องการปฏิรูปบ้าบออะไรอีกล่ะ ลดความเหลื่อมล้ำหรือ กระจายอำนาจหรือ ไอ้พวกซ้ายเก่า NGO คลั่ง ที่อยู่ในม็อบอยากให้เลือกตั้งผู้ว่า อยากให้เพิ่มภาษึคนรวย เก็บภาษีที่ดิน แล้วเศรษฐี ไฮโซ จีน แขก นายหัว ที่บริจาคเงินให้ไอ้เทือก เอาด้วยหรือเปล่า ทหารเอาด้วยหรือ

รัฐประหารจะปิดกั้นสื่อไหม จะปิดเฟซบุคไหม จะปิดทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ทีวีเสื้อแดง วิทยุชุมชน อ้าว ถ้าปิดเอเชียอัพเดท ทำไมไม่ปิดบลูสกาย ถ้าปิด DNN ทำไมไม่ปิด ASTV จะปิด Voice TV หรือ ก็เพิ่งประมูลทีวีดิจิตอลจ่ายเงินให้รัฐพันกว่าล้านบาท ถ้าปิด Voice ก็ต้องชะลอทีวีดิจิตอลทั้งหมด

รัฐประหารจัดการปัญหาประเทศไม่ได้หรอกครับ รัฐประหารจะพังด้วยตัวของมันเอง ผู้รักประชาธิปไตย มวลชนเสื้อแดง ไม่จำเป็นต้องต่อต้านด้วยความรุนแรง เสียเลือดเนื้อ เพียงแต่ต้องแสดงออก ด้วยสันติวิธี เชิงสัญลักษณ์ อะไรก็ตามแต่ที่ให้เห็นว่าเราต่อต้าน และต่อต้านให้มีพลังขึ้นเรื่อยๆ เช่น ได้จังหวะก็เรียกร้องให้เลือกตั้ง เรียกร้องรัฐธรรมนูญ หรือต่อต้านการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ประสานพลังบอยคอตต์จากนานาชาติ

รัฐประหารด้วยรถถัง จึงไม่น่ากลัวเท่ารัฐประหารเงียบ ถ้าให้เลือกระหว่างข้อ ก.กับข้อ ข. ผมเลือก ผบ.ทบ.ขับรถถังออกมาทำรัฐประหารซะ ยังจะโล่งอกกว่า

เพียงแต่ช้อยซ์มีให้เลือก 3 ข้อ ข้อที่สามคือยืนหยัดพิทักษ์ประชาธิปไตยโดยอาศัยพลังสันติ รักสงบ มีเหตุผล ซึ่งเป็นพลังที่มีอนาคต เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่ที่รวมแม้แต่คนไม่ชอบพรรคเพื่อไทย เกลียดพรรคเพื่อไทย แต่ยังเชื่อในวิถีเลือกตั้ง มาปฏิรูปประเทศร่วมกันปฏิรูปจริงอิงพลังสังคม

ม็อบไอ้เทือกมีเวลาอย่างมาก 3 วัน จันทร์ อังคาร พุธ ที่จะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ก่อจลาจล บีบให้สังคมยอมจำนน ให้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง หรือให้ใครซักคนมาเป็น “ตัวกลาง” เจรจาให้เกิดนายกฯคนกลาง (หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดรัฐประหาร)

แต่การใช้พลังมวลชนอย่างไม่ชอบธรรม สร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวม จับคนกรุงเป็นตัวประกัน และเป็นฝ่ายบุกสถานที่ราชการเพื่อให้เกิดความรุนแรง จะทำให้อำนาจใดก็ตาม ที่เข้ามา “รับลูก” ไม่ว่ารัฐประหาร หรืออำนาจที่จะตั้งนายกฯ คนกลาง เสียความชอบธรรมตั้งแต่ต้น เพราะเข้ามาเทคไซด์อันธพาล

นี่คืออำนาจต่อรองของพลังประชาธิปไตย ที่จะทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ รัฐบาลจึงต้องไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อาวุธตอบโต้ นอกจากการสลายฝูงชนตามขั้นตอนขณะเดียวกัน มวลชนเสื้อแดงก็ต้องระงับอารมณ์ ไม่เข้าปะทะ ไม่ควรทำอย่างที่ปทุมธานีหรือเชียงใหม่

นี่เป็นสถานการณ์ที่จะต้องวัดใจกัน ให้สังคมเห็นว่าใครเป็นฝ่ายสันติ อหิงสา ชอบธรรม แล้วฝ่ายนั้นจะชนะใจคนส่วนใหญ่ กองทัพ หรืออำนาจพิเศษใดๆ ก็จะไม่กล้าล้มรัฐบาล เพราะจะถูกมองว่าเอียงข้าง ให้ท้ายอันธพาล

ยกตัวอย่างกองทัพ ถ้าม็อบอาละวาด สร้างความรุนแรง แม้จะมีคนในม็อบตาย เจ็บ แต่ถ้ากองทัพเข้ามารัฐประหาร ก็อ้างได้เพียงว่าเพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมความสงบ ไม่สามารถโยนความผิดให้รัฐบาลฝ่ายเดียว และจะต้องจัดการเอาผิดแกนนำม็อบด้วย (เอ๊ะ หรือว่าจะกล้าๆ ออกประกาศรัฐประหารนิรโทษกรรมสุดซอย)

ต้องอาศัยกระแสสันติ ประชาธิปไตย พลังที่สาม อิงประชาชนที่อยู่ตรงกลางๆ เท่านั้น จึงจะผ่านวิกฤติได้ รัฐบาลจะต้องเป็น “เจ้าภาพ” ร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้พ้นวิกฤติ

คนที่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาความรุนแรง มีจำนวนมากนะครับ แม้กระทั่งคนที่อยากเลือกพรรคประชาธิปัตย์แต่ไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตต์ขัดขวางเลือกตั้ง คนดังบางคนก็บอกว่าจะไปเลือกตั้งแต่ Vote No ต้องยกย่องคนเหล่านี้

รัฐบาลต้องแสดงท่าทีว่า หนึ่ง พร้อมจะปฏิรูป ตามข้อเรียกร้องของสังคม สอง พร้อมจะหาทางออกอย่างสันติ เท่าที่เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างเช่น ต่อกระแสเรียกร้องให้เลื่อนเลือกตั้ง ที่ กกต.อดีตพิธีกร Blue Sky มั่วกฎหมายอ้างว่าเลื่อนได้ภายใน 180 วัน (อ้างมาตรา 93 ทั้งที่ต้องใช้มาตรา 108 คือเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน แต่ถ้าเลือกตั้งไม่ครบ ค่อยเลือกตั้งเพิ่มใน 180 วัน)

รัฐบาลควรแสดงท่าทีว่าถ้าเลื่อนได้ก็พร้อมจะเลื่อน แต่รัฐบาลพลิกข้อกฎหมายแล้วมองไม่เห็นว่าเลื่อนได้ตรงไหน ฉะนั้น ถ้า กกต.จะเสนอ ก็อย่าโยนภาระให้รัฐบาล ต้องชี้ข้อกฎหมายมาด้วย ไม่ใช่อ้างเหลวไหลเลอะเทอะแบบสมชัย ศรีสุทธิยากร
เอาแบบนี้ก็ได้ครับ รัฐบาลส่งข้อหารือไปยังกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ส่งคำถามไปขอคำแนะนำจากศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ให้ตอบมาหน่อยสิ ว่ารัฐธรรมนูญมีช่องให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ตรงไหน
ไม่มีหรอก เหลวไหลเลอะเทอะ ไม่มีองค์กรไหนตอบได้ว่าสามารถเลื่อนเลือกตั้งแล้วมีนายกฯ คนกลาง

แต่ข้อสำคัญอีกข้อคือ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องแสดงความจริงใจ จริงจัง ที่จะปฏิรูปตามข้อเรียกร้องของสังคม เพราะหลังจากประกาศตั้งสภาปฏิรูป ที่คัดเลือกโดย 11 อรหันต์อะไรนั่น ตั้งแต่วันปีใหม่มาถึงวันเด็ก ตั้งแต่ไอ้เทือกประกาศชัตดาวน์ รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย สภาปฏิรูปลมๆ แล้งๆ ยังไม่เห็นสัญญาณคืบหน้า มีแต่หายไปกับสายลม ไอเดียใครไม่ทราบ ใครเป็นคนรับผิดชอบดูแล แม้แต่นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จะเสนอปฏิรูปอะไรบ้าง ก็ไม่มี ชูไปเลยสิครับ จะกระจายอำนาจ จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ตามที่เรียกร้องกันนักหนา ชิงหาเสียงก่อน
รัฐบาลควรเชิญเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา กับ 25 องค์กร ที่นำโดย 7 องค์กรภาคธุรกิจ หรือผู้นำทางสังคมต่างๆ ที่เห็นตรงกันว่าจะต้องปฏิรูปพร้อมเลือกตั้ง ไปหารือแนวทางตั้งคณะกรรมการปฏิรูป มองความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ (เช่นที่อยากให้ออกพระราชกำหนด คงทำไม่ได้)

รัฐบาลต้องยอมรับแนวคิดนักวิชาการประชาธิปไตย คนที่อยู่ตรงกลาง คนที่อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าเหล่านี้ ให้พวกเขาคิด แล้วรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่รัฐบาลคิดเอง เออเอง ท้ายที่สุด 11 อรหันต์ของรัฐบาล พวกที่มาจากภาคธุรกิจก็ไม่เห็นด้วย พวกที่มาจากภาคราชการ ก็ฮึ่มๆ จะรัฐประหาร สภาปฏิรูปของรัฐบาลกลายเป็นสภาโจ๊กไปในชั่วเวลาไม่กี่วัน

โละทิ้งเถอะครับ แล้วหารือกับเครือข่ายต่างๆ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ให้พวกเขาคิด ให้พวกเขาออกหน้า รัฐบาลเพียงแต่ทำตาม แล้วประกาศว่าถ้าการเลือกตั้งสำเร็จ ตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลชั่วคราวเพื่อการปฏิรูปเท่านั้น จะใช้เวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และในระหว่างนี้ก็จะไม่ดำเนินนโยบายใดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม
ม็อบไอ้เทือกมีเวลาอย่างมาก 3 วัน แต่ละวัน แรงกดดัน กระแสต้านจากมหาชน จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนคนกรุงคนชั้นกลางก็จะลดลง เพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่จะอดทนยืดเยื้อ เหลือแต่พวกคนใต้และฮาร์ดคอร์
ถ้าพวกเขาแพ้ครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าแพ้เลย เพราะยังสามารถต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง แต่การประกาศ “ชัยชนะ” ครั้งสุดท้ายๆๆๆๆ คงทำไม่ได้อีกแล้ว พลังมวลชนมีแต่จะโทรมลง นำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของอำมาตย์และแมลงสาบ ต่อวิถีประชาธิปไตย

ฉะนั้น อดทนอดกลั้นเข้าไว้ ยืนหยัด เข้มแข็ง ไม่เอารัฐประหารเงียบ อย่าเรรวน ถ้าพวกเขาหมดทางเลือกก็เอารถถังออกมาเลย

ใบตองแห้ง

12 ม.ค.56

........................................

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา