วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คำแถลงการ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ๒๕ ธันวาคม



คำแถลงเรื่อง สภาปฏิรูปประเทศ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันพุธที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ 



พี่น้องประชาชนไทยที่เคารพ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ดิฉันต้องขอขอบคุณนักวิชาการ นักธุรกิจ และพี่น้องประชาชนผู้ที่มีความหวังดีต่อประเทศและจากหลายภาคส่วนที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวังวนแห่งความขัดแย้งให้กับประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน และจากเวทีเสวนา เวทีสัมมนา หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ดิฉันประมวลได้ว่าส่วนใหญ่ก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งในทางการเมือง การพัฒนาการเมือง และการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในหลายเวทีมีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่จะมาดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ไม่เป็นการขัดหรือแย้ง และสามารถที่จะทำคู่ขนานไปกับกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เป็นที่แน่ชัดแล้ว ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เมื่อถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันพัฒนากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้น ในโอกาสนี้ดิฉันจึงใคร่ขอเสนอรูปแบบองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นรูปแบบหนึ่ง โดยอาจจะเรียกว่าเป็น “สภาปฏิรูปประเทศ” พี่น้องประชาชนอาจสงสัยว่า ใครหรือจะมาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ? ดิฉันขออนุญาตเรียนยืนยันแต่ต้นเลยว่า สภาปฏิรูปประเทศจะไม่ใช่เวทีของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงผู้จัดตั้งโดยใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเพื่อให้เรื่องนี้สามารถเดินหน้าได้ทันที ทั้งนี้ สภาปฏิรูปประเทศจะเป็นสภาของตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง โดยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ และจะเริ่มจากการสรรหาตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน ๒,๐๐๐ คน แล้วจึงให้ตัวแทนอาชีพจำนวน ๒,๐๐๐ คนดังกล่าว เลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศจำนวน ๔๙๙ คน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ ตลอดจนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศในขั้นตอนต่างๆนั้น จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบดังนี้ 
   
 ๑. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ
  
   ๒. หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเลือกจำนวน ๒ คน เพื่อเป็นกรรมการ

    ๓. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ

    ๔. อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่ง ประเทศไทยเลือกจำนวน ๑ คน เป็นกรรมการ 
    
 ๕. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
  
   ๖. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ

   ๗. ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ 

  ๘. ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๒ คน ซึ่งคณะกรรมการที่กล่าวถึงเบื้องต้นเป็นผู้เสนอชื่อ คณะกรรมการชุดนี้จะมีกรรมการรวมทั้งสิ้น ๑๑ คน สำหรับหน้าที่ของสภาปฏิรูปประเทศ ดิฉันขอเสนอดังนี้ 
 ๑. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งอาจรวมถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
 ๒. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ 
๓. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ การสรรหา และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ การใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
 ๔. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพ 
๕. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมาย การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบและวิธีการงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบของเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด สำหรับผู้ที่เป็นห่วงถึงความต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวมานั้น เป็นรูปแบบที่จะนำเสนอเพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงหารือ จากทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลจะได้รวบรวมนำความคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไขและออกเป็นคำสั่งก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งถ้ามีข้อคิดเห็นลงตัวก็จะสามารถประกาศได้ก่อนสิ้นปีนี้ ดิฉันขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงภาระกิจการปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน เพื่อสังคมที่สงบสันติ มีความปรองดอง รักและสามัคคี และเพื่ออนาคตของลูกหลานของเราต่อไป ขอบคุณค่ะ
โดย: Yingluck Shinawatra

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา