"พิชิต ชื่นบาน" ชี้มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เตือนอย่าทำผิดซ้ำสอง
นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม กกต. มีมติเสนอรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ๒๘ เขต ใน ๘ จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจาก กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศเปิดรับสมัครใหม่ เห็นว่ามติคณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังกระทำผิดซ้ำสองที่ไม่ทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการรับสมัครผู้สมัครใน ๒๘ เขต ให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ (๒ ก.พ.๕๗)ดังนี้
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ และมาตรา ๒๓๖(๑) ประกอบ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา ๑๐(๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ในคดีหมายเลขดำที่ ลต.๑/๒๕๕๗ ระบุชัดแจ้งว่า "การที่ผู้สมัครไม่สามารถยื่นใบสมัครต่อ ผ.อ.การเลือกตั้งประจำเขตภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยเหตุที่มีผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับการเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมต่อไป" ดังนั้น กกต.จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกอบกับแนวทางที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งในคดีดังกล่าวข้างต้น ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน ๒๘ เขต มิใช่ กกต.มีมติเสนอรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ๒๘ เขต ถือเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
คำถามที่จะมีถึง กกต.คือนับแต่วันที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัย และชี้แนะถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต.เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ มีกำหนดระยะเวลาพอสมควรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อกำหนดการรับสมัครใน ๒๘ เขต ได้ทำไมไม่ทำ แต่ปล่อยจนให้เกิดปัญหาและถูกฟ้องคดีอาญา ที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๙/๕๗ ทราบว่าศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ การเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ เพื่อต้องการให้หลุดพ้นจากความรับผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช่หรือไม่ กกต.ต้องชี้แจงเพราะหากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ใน ๒๘ เขตจะทำให้มีพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ซ้อน พระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ.๒๕๕๖ และจะทำให้มีวันเลือกตั้งเป็นสองวัน กกต.ก็จะอาศัยวันเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นใหม่นับระยะเวลาไปอีก ๓๐ วัน ทั้งหลายทั้งปวงจะทำให้พ้นคดีใช่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องทำความกระจ่างให้สังคมเข้าใจ และหนักขึ้นหากมีผู้หวังดีประสงค์ร้าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่รัฐบาล ออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ตามข้อเสนอ กกต.ว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะรับผิดชอบหรือไม่ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่ง และทางอาญาที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.กล้ารับผิดชอบหรือไม่
๒. คำถามประการต่อมาหากรัฐบาลยอมตาม กกต.เสนอโดยออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใน ๒๘ เขต ๘ จังหวัดภาคใต้จะเกิดเรื่อง "มหัศจรรย์" ตามมาคือ หากมีการขัดขวางการเลือกตั้งใน ๘ จังหวัดอีก เช่น เมื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใน ๘ จังหวัด แต่สามารถรับสมัครและจัดการเลือกตั้งได้เพียงจังหวัดเดียว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ ๓ เพื่อดำเนินการเลือกตั้งใน ๗ จังหวัดที่เหลือ และหากมีการขัดขวางการเลือกตั้งอีกจะต้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาอีก ๗ ครั้งหรือ เป็นคำถามที่ กกต.ต้องตอบเพราะเรื่องนี้ กกต.ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ณ ปัจจุบันมีผู้ประกาศต่อต้าน และขัดขวางการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต.ต้องสำนึกด้วยว่าการตราพระราชกฤษฎีกานั้น ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกาศตราพระราชกฤษฎีกา และนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สมควรกระทำเช่นนี้หรือไม่
๓. นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่กล่าวมาตามข้อ ๑ กกต.มีหน้าที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ ให้มีจำนวน ส.ส. ๕๐๐ คน หากไม่ถึง ๕๐๐ คนต้องดำเนินการให้มี ส.ส.มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๕ ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเพื่อให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๗ สำหรับจำนวน ส.ส.ที่ขาดอยู่ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้มี ส.ส.ให้ครบตามจำนวน ๕๐๐ คน ภายใน ๑๘๐ วัน คำถามและข้อเสนอแนะที่ กกต.ต้องนำไปคิดเปรียบเทียบคือการเลือกตั้งเพื่อให้ ส.ส.ครบจำนวน ๕๐๐ คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ กำหนดภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป "ไม่จำต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ใช่หรือไม่ หากได้คำตอบว่าไม่จำต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่" คำตอบในปัญหาที่ กกต.มีมติในวันนี้ก็จะไม่เกิดเลย เพราะเป็นคำตอบเดียวกันว่า กกต.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จะออกประกาศ เพื่อรับสมัครใหม่ได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่แต่อย่างใด
สำหรับปัญหาที่หาก กกต.ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ส.ส.ในจำนวนร้อยละ ๙๕ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เพื่อประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๘๐ วัน กกต.ก็ยังคงมีหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผู้สงสัยว่ารัฐบาลต้องรักษาการต่อไปเรื่อยใช่ไหม คำตอบนี้หากมีผู้สงสัย หรือผู้ที่พยายามจะแปลความให้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจรักษาการก็ดี เห็นว่าเรื่องนี้ตรวจสอบได้จาก บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ วรรคท้ายที่บัญญัติว่า "ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ให้คณะรัฐมนตรีดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการใดๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเตรียมการดำเนินการได้" โดยสรุป คณะรัฐมนตรีคงต้องรักษาการต่อไป กลุ่มบุคคลที่ต้องการให้เกิดสุญญากาศ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรี มาตรา ๗ ขอให้เลิกคิดได้