วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

"พรสันต์" อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ จี้กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบม็อบกปปส. ละเมิดสิทธิ์หรือไม่




นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก  ตั้งคำถามถึงการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีเนื้อหาดังนี้


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่รัฐธรรมนูญมีการบัญญัติรับรองและกำหนดพันธกิจไว้อย่างชัดเจน


นั่นคือการเข้าไปดูแลสอดส่องการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเข้าไปล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน (ม.256 และ 257) ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการกระทำอันที่เป็นการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันจะกระทบต่อประเทศและระบอบประชาธิปไตยที่ถือ"ประชาชนเป็นสรณะ" (Supremacy of People)


จากที่ผมได้ติดตามบทบาทของ กสม. ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มกปปส. กสม.ได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อเตือนภาครัฐให้ดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมบ้าง เตือนภาพรวมของการชุมนุมบ้างว่าต้องเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ซึ่งผมเห็นว่าก็ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการจัดตั้ง กสม. มิได้มีลักษณะให้มีบทบาทในเชิงรับ (Passive) เช่นนี้เท่านั้น หากแต่มีการกำหนดบทบาทในเชิงรุก (Active) ด้วย


เช่น นอกจากพันธกิจในลักษณะของการส่งเสริมให้การเคารพและปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนแล้ว รัฐธรรมนูญ ม.257 และ พรบ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ม.15 กำหนดอำนาจหน้าที่โดยให้ กสม.ตรวจสอบและรายงานการกระทำใดๆ ที่ถือได้ว่ามีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษชนและเสนอมาตรการการแก้ไข โดยการเข้าไปตรวจสอบของ กสม. ข้างต้นนั้นหาใช่เพียงแค่เข้าไปตรวจสอบเฉพาะแต่ภาครัฐเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงการเข้าไปตรวจสอบบุคคลใดๆ (เอกชน - โดยจะเห็นได้จากถ้อยคำของ พรบ.คณะกรรมการสิทธิฯ ในมาตราต่างๆ) ด้วยว่ามีการกระทำใดที่เข้าลักษณะของการล่วงละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นหรือไม่อย่างไรด้วย


คำถามคือกสม. ได้แสดงบทบาทในเชิงรุกนี้กับการชุมนุมทางการเมือง ณ ปัจจุบันแล้วหรือไม่?


หากถามผมแล้ว ผมเห็นว่ายังไม่ได้แสดงบทบาทในเชิงรุกนี้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกระทำของผู้ชุมนุม กล่าวอีกนัยหนึ่ง กสม. อาจมีการใช้บทบาทในเชิงรุกแล้วในการตรวจสอบภาครัฐแล้วว่ารัฐกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมแล้วหรือไม่อย่างไร


แต่กสม.ยังไม่เคยชี้ หรือตรวจสอบการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. อย่างชัดอย่างชัดเจนเลยว่า การชุมนุมที่มีการบุกยึดสถานที่ราชการบ้าง ข่มขู่เจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง การขัดขวางการให้บริการสารธารณะอย่างต่อเนื่องของรัฐบ้าง การใช้เสรีภาพของตนเองเข้าไปกระทบสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของบุคคลอื่นบ้าง (ซึ่งทั้งหมดรัฐธรรมนูญก็มีการบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้เช่นเดีวกัน) ตรงนี้ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองตาม ม.63 แล้วหรือไม่?


หากคำตอบของ กสม. ตอบว่าเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยหลักการชุมนุมก็จะไม่เสี่ยงกับ หรือนำไปสู่ความรุนแรง แต่หากเป็นการชุมนุมโดยมิชอบก็จะมีผลในทางกลับกัน ทั้งนี้เนื่องจากในสายตาของระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมต้อง "สงบและปราศจากอาวุธ" ก็เพื่อป้องกันมิให้มีลักษณะของการใช้เสรีภาพเข้าไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลใดๆ อันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดความเกลียดชัดของผู้ถูกกระทบสิทธิเสรีภาพอันนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมทั้งหมดในองค์รวมต่อไปนั่นเอง


ขอย้ำนะครับว่าตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว กสม. จะไปมุ่งโฟกัสเฉพาะการตรวจสอบเฉพาะการใช้อำนาจของภาครัฐว่าจะมีการใช้อำนาจเข้าไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้านเดียวเท่านั้นมิได้หากแต่ต้องไปกระทำการตรวจสอบการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลใดๆ ที่มีลักษณะเข้าไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก กสม. อันถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐนั้นต้องกระทำหน้าที่บน "หลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ซึ่งเป็นหลักการทางกฎหมายมหาชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนที่เรียกร้องให้ กสม. ต้องคำนึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ด้วยตาม ม.28 ประกอบ ม.257


ผมขอรอฟังคำตอบและคำชี้แจงจากผู้ทรงคุณวุฒิของกสม. ทุกท่านสำหรับคำถามที่ผมถามไปนะครับ


ด้วยความเคารพอย่างสูง

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา