วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

เสียงตะโกนลั่นวันอาทิตย์



วงค์ ตาวัน

เราอาจจะได้เห็นภาพความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าหลายพื้นที่ แต่ความจริงแล้ว อีกหลายๆ พื้นที่เป็นไปโดยเรียบร้อย หรือมีผู้มาต่อต้านขัดขวาง สุดท้ายก็อาจไม่ฝืนพลังประชาชนที่หวงแหนสิทธิทางการเมืองของตนเองได้

การเลือกตั้งล่วงหน้า จึงสำเร็จเสร็จสิ้นไปถึง 65 จังหวัด เกิดปัญหาอยู่ 12 จังหวัด

แต่ในขณะเดียวกัน ในบรรดาคูหาที่ไม่อาจเลือกตั้งล่วงหน้าได้นั้น

เกิดสภาพที่ประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิไปแสดงตัว แต่ไม่อาจเดินผ่านม็อบเข้าไปได้ ไปจนถึงม็อบไปปิดล้อมกดดันปิดประตู ล่ามโซ่ กดดันให้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งต้องยุติการทำหน้าที่

แปลว่า คนต้องการไปเลือกตั้งล่วงหน้า ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ถูกขัดขวาง

จนบางคนตัดสินใจเดินฝ่า บางคนปีนประตูข้ามรั้ว อย่างกล้าหาญมุ่งมั่น!

รวมแล้วมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ 2 ล้านกว่าคน เกิดปัญหาใช้สิทธิ์ไม่ได้ราว 4 แสนคน

แต่เท่ากับเป็นข้อยืนยันว่า คนกว่า 2 ล้านยืนยันการเลือกตั้ง

แต่ถูกขัดขวางจากคนอีกแนวความคิดหนึ่ง นี่คืออะไร 

นักประชาธิปไตยนั้นเห็นต่างกันได้ ต้องรณรงค์แนวคิดให้คนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นด้วย เพื่อมาเข้าร่วมต่อสู้

ไม่ใช่ไปขัดขวาง ไปกดดันบังคับ ไม่ให้เขาเลือกในสิ่งที่ตนเองเห็นต่าง

การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย 

คนที่ขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิ์ไปใช้สิทธิ์นั้น ผิดกฎหมายและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอย่างชัดเจน!

สะท้อนว่า ทำด้วยอุดมการณ์แบบไหนกันแน่

ประชาธิปไตยต้องไม่ทำกับผู้อื่นอย่างนี้ ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นสำคัญ

เสียงตะโกนจากคนที่ต้องการเข้าคูหาแล้วถูกขัดขวางที่ว่า "พวกคุณละเมิดสิทธิ์ผม" "คุณละเมิดสิทธิของเรา"

ไปจนถึง "เราต้องการเลือกตั้งๆๆๆ" ลั่นไปทั่วในวันอาทิตย์!

เสียงเหล่านี้ควรเกิดในประเทศที่เป็นเผด็จการล้าหลัง ทำไมจึงมาเกิดในประเทศไทยพ.ศ.นี้

และผู้ที่ขัดขวางประชาธิปไตย จนผู้คนต้องตะโกนใส่ ไม่ใช่รัฐบาล เพราะรัฐบาลคือผู้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนและเปิดให้เลือกตั้ง

ผู้ที่ขัดขวาง คือผู้ที่ต้องการให้รัฐบาลเลือกตั้งลาออก เพื่อให้มีรัฐบาล "แต่งตั้ง" เพื่อให้มีสภาจาก "การแต่งตั้ง"

ยิ่งอธิบายทุกอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อแสดงตนขัดขวางไม่ให้คน"เลือกตั้ง"

นี่คือแนวทางอะไร!!
 


ขอบุณข้อมูลจาก  ข่าวสดออนไลน์ 

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา