วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

การเลื่อนการเลือกตั้ง คือ รัฐประหาร(เงียบ) เอกชัย ไชยุนวัติ



การเลื่อนการเลือกตั้ง คือ รัฐประหาร(เงียบ)

การเลื่อนการเลือกตั้ง คือ รัฐประหารเงียบ เหตุที่ต้องใช้คำนี้ เพราะคนไทยได้เห็นการรัฐประหาร การยึดอำนาจ โดย ทหารใช้กำลังทางทหารนำอาวุธต่างๆ ออกมาแสดงสัญลักษณ์ เป็นจำนวนหลายสิบครั้ง เห็นและรับทราบข้ออ้าง ของ ทหารที่ต่างบอกว่า มีหน้าที่ออกมาหยุดไม่ให้คนไทย ฆ่ากันเอง ครั้งสุดท้ายการปฏิวัติ เมื่อ ปี พศ ๒๕๔๙ คนไทยทุกคนก็ได้เห็นภาพนั้น แต่สิ่งที่คนไทยไม่เคยเห็น คือ รัฐประหารเงียบ(!)

รัฐประหารเงียบ ในความคิดของผู้เขียน(ส่วนตัว) คือ การพรากอำนาจอธิปไตย อำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศไทย ในการเลือกผู้ปกครองประเทศผ่านขั้นตอนที่ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในกฎหมาย พรากไปจากมือของคนไทยทุกคนที่ต้องการใช้อำนาจ อธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ รัฐธรรมนูญ กำหนด

มาตรา ๑๐๘ แห่ง รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. ๒๕๕๐(๒๕๕๔) กำหนดหลักไว้ ๓ประการดังนี้ (๑) เมื่อมีการยุบสภา จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ (๒) การเลือกตั้งนั้นจะต้องกระทำในระหว่าง ๔๕ ถึง ๖๐วัน (๓) การยุบสภาให้กระทำได้ในครั้งเดียว ทั้ง๓ประการนี้ รัฐธรรมนูญมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตามที่ รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ระบุไว้ เมื่อมีปัญหาทางการเมือง นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ใช้อำนาจดุลยพินิจวินิจฉัยฝ่ายบริหาร ตัดสินใจ ยุบสภา ส่งอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจาก ประชาชนชาวไทยกลับคืนไปยัง ปวงชนชาวไทยทุกคน ให้ประชาชนได้ใช้อำนาจตัดสินใจในวันเลือกตั้ง ทุกท่านจะเห็นได้ว่า อำนาจในฐานะเจ้าของประเทศของท่านไม่เคยหายไปไหน(!!) แต่ท่านได้มอบอำนาจนั้นให้ กับกลุ่มบุคคล ที่ท่าน(ตัดสินใจ)เลือก ตามที่ กฎหมายบัญญัติไว้ ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตลอดเวลาไม่เคยเปลี่ยนแปลง !

ถ้าสังคมไทยนี้ เป็นสังคม นิติรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม อย่างแท้จริงทั้งในทางพฤตินัย และนิตินัย คนไทยก็คือเจ้าของอำนาจที่แท้จริงตลอดเวลาทุกวินาที ดังนั้น การยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง ที่แน่นอน คือ ๒ กพ พ.ศ. ๒๕๕๗ คือ การกระทำตามกฎหมายทุกประการ ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ ของ นายก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือตามคำสั่งจากแดนไกล ของนาย ทักษิณ ชินวัตร หรือจากกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า กปปส แต่วาทกรรมที่ บอกว่า “ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” หรือ “เลื่อนการเลือกตั้ง” ถามว่า การเรียกร้องแบบนี้มี กฎหมายใดๆมารองรับการกระทำหรือไม่ นายกรัฐมนตรี คือ ผู้บริหารสูงสุดของประเทศไทย ที่คนไทยส่วนใหญ่ลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะกระทำการใดๆ ต้องถูกจำกัดการกระทำโดยต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เสมอ นายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจกระทำนอกรัฐธรรมนูญ การปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่หลังจากที่มีการยุบสภา ไม่มีบทบัญญัติใดใน รัฐธรรมนูญนี้ที่เปิดช่องให้ทำได้ มากกว่านั้น รัฐธรรมนูญ จำกัดอำนาจ นายกรัฐมนตรี และ ครม ไว้ที่ มาตรา ๑๘๑ ที่ (๑) ต้องให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม ชุดใหม่ ทาทำหน้าที่ แต่ (๒) ครม ไม่มีอำนาจที่จะปลด ย้าย หรือสั่งการให้ข้าราชการ มาปฏิบัติหน้าที่ (๓)ไม่มีอำนาจ ก่องบประมาณผูกพัน (๔)ไม่กระทำการใดๆที่เป็นผลผูกพัน รัฐบาลชุดใหม่ ถ้า การกระทำ (๒)ถึง(๔) ไม่ได้รับอำนาจอนุมัติ จาก กกต

องค์กรอิสระหลัก(ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร หรือ รัฐสภา)ในระหว่างที่มีการยุบสภา ที่ต้องทำหน้าที่ทุกวิถีทางในการดูแล อำนาจ อธิปไตยของประชาชน คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวได้อย่างชัดเจนว่า กกต มีอำนาจและหน้าที่ทุกประการ ที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปโดย สุจริตและเทียงธรรม ในขณะที่ อำนาจของนายกรัฐมนตรีและ ครมนั้น ถูกจำกัดไว้อย่างชัดเจนและมากมายใน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ อำนาจของ กกตมีอย่างมากมายใน รัฐธรมนูญ มาตรา ๒๓๕ และ ๒๓๖ มาตรา ๒๓๕ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” และ มาตรา ๒๓๖ ยังให้อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ โดยเฉพาะที่ มาตรา ๒๓๖(๔) “มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย มาตรา ๒๓๕ วรรคสอง” โดย ม ๒๓๕ วรรค ๒ ระบุให้ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้รักษาการ ตาม กฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ การเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ และการลงประชามติ หมายความว่า รัฐธรรมนูญ ให้อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้งไว้อย่างชัดแจ้งในระดับรัฐธรรมนูญที่สั่ง มนุษย์ทุกคนที่รับเงินภาษีจากราษฎรในการจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือ การดำเนินการให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่สะดุดหยุดลง เพื่อให้ ประเทศนี้ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย!

ดังนั้น การ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไม่ได้ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะ เมื่อมีการยุบสภาแล้ว ประชาชน ๔๘ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกคนจะ ปฏิรูปประเทศ โดยการแสดงออกผ่านทางการออกเสียงลงคะแนน ประชาชนจำนวนนี้รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส ด้วยและเท่าเทียมกันทุกประการ ๑ คน ๑ เสียง วาทกรรมที่ต้องการให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อปฏิรูปประเทศ จึงทำให้อำนาจอธิปไตย อำนาจเดียวที่ประชาชนทุกคนมี หลุดลอยออกไปจากสิ่งที่ กติกาสังคมกำหนดไว้ตามสัญญาประชาคม ไม่สามารถตอบได้ว่า ใครคือผู้ใช้อำนาจ ปฏิรูปประเทศ อ้างอิงประชาชนมวลรวมอย่างไร??มีการใช้อำนาจตามกฎหมายไหน ในขณะที่ การเลือกตั้ง คือ อำนาจที่ประชาชนทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน ๑คนเสียง ถ้าหน่วยงานใดจะเลื่อนการเลือกตั้งทั้งๆที่กฎหมายบังคับให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องตอบให้ได้ว่าท่านเอาประชาชน ๔๘ ล้านคนไปไว้ที่ไหน?

เอกชัย ไชยุนวัติ
ประชาชน ๑ เสียง

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา