คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ขอคัดค้านการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการทั่วไปในหลายพื้นที่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ขอคัดค้านการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการทั่วไป ในหลายพื้นที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ ด้วยความห่วงใยและวิตกกังวลในแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปแล้วต่างกรรม ต่างวาระ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทําให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังเห็นว่าตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม-22 มีนาคม 2557 การประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะส่งผลกระทบที่สําคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะยิ่งทําให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในประการสําคัญยังละเลยและมองข้ามกลไกและระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทําหน้าที่ถ่วงดุลอํานาจฝ่ายบริหารให้ใช้อํานาจรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และถูกต้องทํานองคลองธรรม นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยมีข้อเสนอแนะท้วงติง การประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา และในครั้งนี้ แม้มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ในประเด็นของความฉุกเฉินและความจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจเพิ่มขึ้นจากเดิม ยังไม่ชัดเจน
การประกาศใช้พระราชกำหนดนี้ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยไม่มีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นการละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเกี่ยวด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุม สั่งระงับยับยั้งการสื่อสารใดๆของสื่ออาจนำไปสู่การปิดกั้น และลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ทั้งยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไปในขณะเดียวกัน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่าย จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
1. รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทันที เนื่องจากสถานการณ์และองค์ประกอบยังไม่เข้าขั้นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพียงพอ และให้มุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป
2. ผู้จัดการชุมนุมทุกกลุ่มทุกฝ่าย และผู้เข้าร่วมชุมนุม ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการยั่วยุ ปลุกเร้า อีกทั้งต้องระมัดระวังการดำเนินการใดๆ อันอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องชุมนุมให้เป็นไปโดยความสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่การชุมนุมโดยยึดแนวทางสันติวิธี หลักนิติธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
3. สื่อมวลชนทุกแขนงสมควรระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องตามความเป็นจริงภายในกรอบของกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
ที่มา http://news.voicetv.co.th/