วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สื่อตะวันตกมองสังคมไทย



สื่อตะวันตกมองสังคมไทยอย่างตั้งคำถาม ว่า ทำไม คนที่มีการศึกษาดี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ชั้นนำจากตะวันตกที่ประชาธิปไตยงอกงาม และชนชั้นนำเหล่านี้ล้วนมีฐานะทางสังคมที่ค่อนข้างสูง สนับสนุนแนวคิด สภาประชาชน ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมจากรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ตระเวนสัมภาษณ์บรรดาบุคคลในวงสังคมระดับสูง และคนเด่นคนดัง ในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

โดยคนเหล่านี้บอกถึงเหตุผลที่ออกสู่ท้องถนน ว่า ต้องการเชิดชูคุณธรรม และแสดงความเห็นว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

โดยรายงานเรื่อง "High society hits the streets as prominent Thais join protests" เขียนโดย Andrew R.C. Marshall บอกว่า ความชิงชังของคนเหล่านี้ต่อบรรดาผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเกือบ 16 ล้านคน ที่ได้เลือกตั้งน้องสาวของเขาเข้ามา

อย่างเช่น เพชร โอสถานุเคราะห์ เจ้าของโอสถสภา ผู้ร่วมถือครองสินทรัพย์มูลค่าราว 20,000 ล้านบาท บอกว่า พวกคนชนบทที่โหวตเลือกยิ่งลักษณ์ เป็นคนด้อยการศึกษา ถูกชักจูงง่าย และเห็นแก่เงิน ยินดีขายเสียงให้แก่นักการเมืองที่ทักษิณสนับสนุน ทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมาย

"ผมไม่ชอบประชาธิปไตยเท่าไหร่" เพชร ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ บอก

"ผมไม่คิดว่า เราพร้อมสำหรับประชาธิปไตย เราต้องมีรัฐบาลที่เด็ดขาดแบบจีน หรือสิงคโปร์ ผมอยากได้ผู้นำแบบ ลี กวน ยิว" 

ขณะที่ ปาลาวี บุนนาค นักกฎหมายจากอังกฤษ ผู้สมรสกับ วรสิทธิ์ อิสสระ บุตรชายคนโตของศรีวรา ซึ่งไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง บอกว่า การให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเริ่มที่คนขับรถและแม่บ้านของตัวเองก่อน

เธอเห็นว่า ต้องสอนให้คนอีสานรู้ถึงข้อจำกัดของนโยบายประชานิยม เช่น พวกเงินกู้ทั้งหลาย "พวกเขาอยากมีชีวิตสบาย แต่ไม่ได้คิดว่า ในระยะยาวพวกเขาจะเป็นหนี้ ระบอบทักษิณทำให้ทุกคนละโมบ"

ตัวอย่างของบุคคลในสังคมระดับสูงที่มีความเห็นต่อประชาธิปไตย อีกคนหนึ่ง คือ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ "น้องตั้น" โฆษกเวทีราชดำเนิน ทายาทเจ้าของบุญรอดบริวเวอรี่ ที่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี ตอนหนึ่ง ว่า

"ปัญหาคือ คนไทยจำนวนมาก ขาดความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท" เธอบอกอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ "ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการให้การศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย"

แน่นอนว่าลำพังบุคคลร่ำรวยเหล่านี้คงไม่ได้อยู่ๆ ก็สามารถจะกล้าออกมาเปิดหน้าแสดงความคิดที่อยู่ในใจเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยตามที่พวกเขาเข้าใจ แต่แนวคิดที่มีต่อประชาธิปไตยของบุคคลเหล่านี้ถูกประทับรับรองด้วยนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะทำงานกลุ่ม กปปส. ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ถึงหลัก 1 คน 1 เสียง จะมีปัญหาในระบอบประชาธิปไตยของไทย

"จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ตามบริบทของประเทศ ถ้าไทยจะทำก็ต้องดูบริบทของประเทศ ออกแบบประชาธิปไตยให้มันสอดคล้อง ไม่งั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องทำให้ประชาชนเลือกคนดีมาเป็นผู้ปกครองให้ได้ เพราะมีแต่คนดีเท่านั้นที่จะใช้อำนาจทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน ถ้าเลือกคนเลว ก็จะใช้อำนาจนั้น หาประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก เหมือนสภาของระบอบทักษิณที่ทำอยู่ทุกวันนี้"

เช่นเดียวกับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ที่บอกว่า "3 แสนเสียงในกรุงทพฯ เป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงในต่างจังหวัด แต่ไร้คุณภาพ"

แต่ในเรื่องนี้ ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการเสื้อแดง ให้เหตุผลว่า ถ้าการขยายอำนาจของคนสามัญ เพื่อความเป็นธรรมของสังคม แล้วคนจะเรียกผมว่า "นักวิชาการเสื้อแดง" ตนก็พร้อมจะยอมรับ ได้ให้เหตุผลที่แตกต่างออกไป

โดยเห็นว่า

"กลไกของการเมืองท้องถิ่นเป็นอย่างไร ยากที่คนในกรุงเทพฯ จะเข้าใจ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภาเขต สำหรับคนกรุงเทพฯ เป็นเหมือนพิธีกรรมไร้สาระจริงๆ ถามหน่อยว่าเราแคร์แค่ไหนว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราแคร์หรือว่าผู้ว่าฯ กทม. จะมาช่วยอะไรเรา หรือเราเลือกกันเพราะอารมณ์จริงๆ ว่าเราชอบใคร นิยมใคร แต่สำหรับชาวบ้านในชนบท นักการเมืองท้องถิ่นมีส่วนกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขามากกว่าใน กทม."

ขณะที่เอเอฟพีอ้างความเห็นของ "คริส เบเกอร์" นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อธิบายต้นเหตุของการประท้วงตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เป็นผลจากความรู้สึกไม่มั่นคงของเหล่าอภิสิทธิ์ชนคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเกรงว่า ระเบียบสังคมอย่างที่เคยเป็นมาจะสิ้นสุดลง

เบเกอร์บอกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขา แต่ชนชั้นกลางเขตเมืองแทบไม่เคยสัมผัสรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชนบทเหล่านั้น และยังคงเชื่อว่า คนต่างจังหวัดเป็นพวกยากจน น่าสงสาร "มันเป็นความรู้สึกว่าตนเหนือกว่า ซึ่งเป็นความเชื่อแบบฝังหัว"

อย่างที่ทราบกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่มใหญ่ ซึ่งต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตอย่างเช่นเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐ แต่หลักการพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตย ที่คงไม่มีใครโต้แย้ง คือความเชื่อในความเสมอภาคของมนุษย์

ซึ่ง เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อีกคน ให้นิยามของคำว่า "เสมอภาค" ไว้ว่า คือการยอมรับว่าคนอื่นก็สามารถคิดเองเป็นเหมือนกับเรา ดังนั้น จึงสามารถที่จะไม่เห็นด้วยกับเรา คิดต่างจากเรา และโต้แย้งคัดค้านปฏิเสธข้อคิดความเห็นของเราได้เป็นธรรมดา และเมื่อยอมรับว่าคนอื่นเสมอภาคเท่าเทียมกับเราทางการเมืองและเผอิญเขาไม่เห็นด้วยกับเราแล้ว ทางเดียวที่จะเปลี่ยนใจเขาได้ก็คือ ใช้เหตุผลข้อเท็จจริงโต้แย้งหว่านล้อมชักจูงจนเขาเปลี่ยนใจมาเห็นด้วยกับเราเองโดยสมัครใจ

ดังนั้น การมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่า ตนเองพร้อมด้วยความเข้าใจในหลักการทางประชาธิปไตย และอาสาจะมากำหนดกฎเกณฑ์วางโครงสร้างทางการเมืองแทน

หรือพูดง่ายๆ คือ ไปคิดแทนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่าขาดคุณสมบัติที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น ท้ายที่สุด อาจจะก่อให้เกิดปัญหาลุกลามจนยากจะแก้ไข

หรือ นี่คือ 2 นคราประชาธิปไตย ปี 2556 ที่ตอกย้ำว่า 1 สิทธิ 1 เสียง ยังไม่พร้อมสำหรับสังคมไทย ! 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387947335&grpid=01&catid=01&utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา