วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

'Hate Speech' อาวุธร้ายในการเมืองโลก




ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือที่เรียกว่า Hate Speech ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองของไทยกันอย่างกว้างขวาง ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการใช้ Hate Speech กันบ้างหรือไม่ และการนำกลยุทธ์นี้มาใช้จะให้ผลลัพธ์อย่างไร



"คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง" หรือ "Hate Speech" ถูกนำมาใช้โจมตีคู่แข่งทางการเมืองในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับในต่างประเทศ ความหมายทั่วไปของ Hate Speech คือ การโจมตีบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ ด้วยอคติ การเหยียดเชื้อชาติ เพศสภาวะ หรือบางครั้งอาจรวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง

นายเจฟฟรีย์ นันเบิร์ก นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันมองว่า คำพูดที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง หรือ Political Hate Speech เป็นปรากฏการณ์สมัยนิยมผ่านคำศัพท์อย่างชาญฉลาดของกลุ่มนักอนุรักษ์นิยม เพื่อใช้โจมตีหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของกลุ่มเสรีนิยม เช่น การเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ เป็นต้น

การใช้ Hate Speech มักละเลยความถูกต้องทางการเมือง หรือ Political Correctness ซึ่งหมายถึง การหลีกเลี่ยงภาษา การแสดงความคิดเห็น หรือพฤติกรรมที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม และมีอคติทางเชื้อชาติ เพศสภาวะ ที่มาพร้อมกับ ความไม่ถูกต้องทางการเมือง หรือ Politically Incorrect ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษา แสดงความคิดเห็น เพื่อชื่นชมการกระทำของฝ่ายตน

ตัวอย่างของ Hate Speech สามารถแสดงออกมาได้หลากหลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องออกมาทางคำพูดเพียงอย่างเดียว การเลือกปฏิบัติ การยั่วยุ หรือ การแก้ไขบิดเบือนประวัติศาสตร์ ล้างผิดให้ตนเองก็ถือเป็น Hate Speech ด้วย ในอดีต Hate Speech ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีเยอรมนี หรือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในประเทศไทย เป็นต้น

ส่วนในสหรัฐฯ ยังมีการนำ Hate Speech มาใช้เพื่อการแบ่งแยกสีผิว ขณะเดียวกัน การเมืองสหรัฐฯ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา Hate Speech ยังถูกหยิบยกมาใช้โจมตีคู่แข่งทางการเมือง ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่อย่าง รีพับลิกัน และเดโมแครต เช่น พรรคเดโมแครตกล่าวหาอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน ว่าเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ไม่มีข้อห้ามเรื่อง Hate Speech โดยตรง แต่นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่า หลักการไม่เลือกปฏิบัติในข้อที่ 7 สามารถนำมาใช้ได้ เพราะ "ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดๆ"

ในประเทศอื่นๆ อย่าง แคนาดา แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ยังมีการบัญญัติให้ Hate Speech เป็นความผิดทางอาญา และที่น่าสนใจก็คือประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมนี มาตรา 130 ได้บัญญัติให้การหมิ่นประมาทประชาชนเป็นความผิดทางอาญาเช่นกัน ดังนั้น การแสดงทัศนคติดูหมิ่นผู้อื่นว่าโง่ และซื้อสิทธิขายเสียง หากวัดจากมาตรฐานของกฎหมายของเยอรมนีแล้วก็อาจเข้าข่ายมีความผิดได้


ที่มา http://shows.voicetv.co.th/world-update/94208.html

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา