วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ระยะเหมาะสม"ทหาร"กับ"การเมือง"



รายงานพิเศษ



บทบาทกองทัพกำลังเป็นที่จับตาว่า สถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง บีบให้ทหารต้องเลือกข้าง กองทัพจะแสดงจุดยืนอย่างไร 

เสียงเรียกร้องดังกล่าวดังขึ้นเรื่อยๆ แต่วันนี้ทหารยังคงรักษาระยะไม่ให้แตกแถวออกมานอกกรมกอง อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่กำกวมนี้เองถูกบางฝ่ายนำไปตีความเข้าข้างตัวเอง ขย่มคู่ต่อสู้ฝั่งตรงข้าม

จุดเหมาะสมลงตัวระหว่างทหารกับการเมืองนั้น ควรอยู่ตรงไหนถึงจะเป็นระยะปลอดภัยสำหรับประเทศไทย ?



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
คณะรัฐศาสตร์ ม.มหิดล


กองทัพกำลังสับสนบทบาทตัวเองว่าจะเลือกอะไร ระหว่างการเป็นสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หรือการเป็นสถาบันอำนาจการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ 

แต่เท่าที่ดูกองทัพเลือกที่จะออกมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ดูได้จากผู้นำกองทัพพยายามพูดถึงการยุติความขัดแย้ง และบทบาทหน่วยซีลที่อ้างว่ามีคนกัมพูชาพยายามเข้ามา ก่อความไม่สงบ ทั้งที่กองทัพควรเป็นไปตามกลไกราชการ ทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ขณะเดียวกันกองทัพต้องไม่กระทำการรัฐประหาร ไม่อย่าง นั้นจะเหมือนเป็นสถาบันการเมืองอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา เหมือน ที่กองทัพกำลังเป็นอยู่ โดยแสดงความเห็นทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้หน้าที่กองทัพเข้ามายุติความขัดแย้งทางการเมือง 

อีกทั้งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเห็นบทบาททหารเข้าสู่การเมือง แต่เริ่มกลับมาช่วงหลังปี"49 ซึ่งบทบาทดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง กลายเป็นดัชนี้ชี้วัดความอ่อนแอของประชาธิปไตย

ส่วนการที่กองทัพแสดงตัวไม่สนับสนุนรัฐบาลในการใช้พื้นที่ทหารอากาศตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) นั้น ถือเป็นท่าทีประหลาด ทั้งที่กองทัพเป็นหน่วยงานราชการ สถานที่ก็เป็นของประเทศ ไม่ใช่ของกองทัพคนเดียว เช่นเดียวกับการห้ามสื่อเข้าทำข่าวในพื้นที่ทหาร ทั้งที่สื่อทำตามหน้าที่ 

แค่ 2 สิ่งนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่ปกติของกองทัพในทางอ้อมว่าไม่ต้องการสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งศรส.ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในการขอใช้สถานที่อย่างถูกต้อง ดังนั้นกองทัพจึงควรอำนวยความสะดวกให้ 

เปรียบเทียบกับปี 53 ที่ผ่านมา ทำไมกองทัพยังสนับสนุนการใช้พื้นที่ทหารให้กับศอฉ.ได้เลย นี่ก็ศรส. มีรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่รักษาการตามรัฐธรรมนูญ และยังมีนายกฯเป็นรมว.กลาโหม จะไม่ฟังคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชาบ้างเลยหรืออย่างไร

ตอนนี้ก็ใกล้จะมีการเลือกตั้ง สิ่งที่กองทัพทำได้และควรทำคือ สนับสนุนการเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุนหน้าที่ของประชาชนต่อการไปใช้สิทธิ์ และต้องมีจุดยืนชัดเจนว่ากองทัพจะไม่กระทำรัฐประหาร และควรแสดงความคิดเห็นเฉพาะในอำนาจหน้าที่ 

เพราะที่ผ่านมาเวลากลุ่มกปปส.กระทำความรุนแรง กองทัพ มีแต่พูดว่ารัฐบาลมีหน้าที่ยุติความขัดแย้ง ไม่เห็นพูดว่า กปปส. ไม่ควรสร้างความขัดแย้ง และไม่เคยเชิญชวนประชาชนในกลุ่มกปปส.ให้ออกไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง

สำหรับผมจึงเห็นชัดเจนว่า กองทัพไม่สนับสนุนประชา ธิปไตยและการเลือกตั้งเลย รวมถึงยังแทงกั๊กไม่กล้าแสดงจุดยืนตัวเองชัดเจนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลตลอดมา 

ถ้ากองทัพอยากแสดงบทบาทเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ก็ควรมาช่วยสนับสนุนกำลังพลเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป 

และจะต้องปฏิรูประบบทหารด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ก็จะแก้ด้วยการปฏิรูปทหารด้วย แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมี

ควรออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญห้ามทหารมีตำแหน่งทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรี ส.ว. ส.ส. หรือแม้แต่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น 

รวมถึงควรลดงบประมาณกองทัพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนเกินความจำเป็นต่อหน้าที่ในระยะยาว ไม่เว้นแม้แต่สถานที่ตั้งกองทัพก็ควรอยู่ห่างไกลเมืองหลวงหรือสถานที่สำคัญ 

เพื่อไม่ให้ทหารก่อรัฐประหารได้โดยง่ายนั่นเอง



สุรชาติ บำรุงสุข
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สถานการณ์ขณะนี้ทหารวางตัวลำบาก กำลังลอยตัวเหนือปัญหา เพราะไม่อยากแบกรับอะไร จะเหมาะสมหรือไม่นั้น ตอบยาก เพราะเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเฉพาะหน้า ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถ้าทหารวางตัวอย่างในอดีตคงเกิดปัญหา 


ข้อดีของบทบาทที่คลุมเครือในปัจจุบัน คือทหารยังประคองตัวต่อไปได้ ถ้าจะเดินหน้าไปมากกว่านี้ผู้นำ ทหารก็คงจะกังวล ไม่ใช่ไม่กังวล เพราะขยับไปทางไหนก็มีปัญหา ตอนนี้ ผู้นำทหารจึงพยายามอยู่เหนือปัญหา 

ส่วนบทบาทในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในภายหน้า

กรณี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ไม่อนุญาตให้ใช้บก.ทอ. เป็นที่ทำงานของศรส. นั้น อาจเพราะกลัวจะเกิดปัญหาอย่างเดียวกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นได้ชัดว่าไปตั้ง ศรส.ที่ไหน ก็เจอปัญหาตลอด กองทัพคงอยากขยับตัวออกจากปัญหา 

เมื่อนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับปี 53 ที่กองทัพอนุญาตให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปตั้งศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผอ.ศอฉ. ในพื้นที่กรมทหารราบที่ 11 จะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับ 2 รัฐบาลนี้ต่างกัน และเมื่อปี 53 ยังไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น

แต่ปี 57 ทหารมีบทเรียนจากครั้งนั้นมาแล้ว ประกอบกับอีกไม่นานผบ.สส. และผบ.ทบ. ก็จะเกษียณอายุราชการคงไม่มีใครอยากให้ตัวเองมีแผลก่อนเกษียณ



สมบัติ บุญงามอนงค์ 
บ.ก.ลายจุด

ท่าทีกองทัพขณะนี้พยายามไม่อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่ปกป้องทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในกลุ่มกปปส. ไม่ให้เกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันก็เอาทหารมาช่วยตำรวจ เหมือนกับว่ากองทัพแทงไพ่ทั้งคู่ 

ต้องยอมรับว่าทหารออกมาช่วยดูแลสถานการณ์นาน ถ้าจะมีเหตุเกิดขึ้นจากกองทัพจริงคงทำไปนานแล้ว แสดงว่าไม่มีเหตุจูงใจให้ก่อรัฐประหาร แต่ก็คงยากอีกเช่นกันที่จะรอให้ฝ่ายการเมือง หาทางออกร่วมกัน

ผมเห็นใจบทบาททหาร เราอาจไม่รู้เหตุผลอีกระดับของกองทัพเลยก็ได้ ทุกวันนี้คนพยายามดึงทหารเข้ามาร่วมความขัดแย้ง แต่เราเองก็ไม่รู้ว่าภายในกองทัพเป็นเอกภาพหรือไม่ ซึ่งอาจมีทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารในกองทัพเดียว 

แต่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่าท่าทีของผบ.ทบ.ครั้งนี้ทำได้ดีกว่าที่ผ่านๆ มา ท่านพูดว่าใครเป็นคนทำให้จัดการคนนั้น จึงเป็นท่วงทำนองที่รับได้

แต่ถ้าจะให้ดีกับสถานการณ์เช่นนี้ กองทัพควรพูดให้น้อยที่สุด และทหารไม่ควรออกมาเป็นผู้นำในเวลาแบบนี้ ยิ่งมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทหารซึ่งมีความเข้มแข็งมาก การปฏิบัติก็อาจดูรุนแรงเกินไป ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการปฏิบัติ เพราะมีทักษะในการควบคุมจลาจลฝูงชนที่ดีกว่า แล้วให้ทหารช่วยเป็นฝ่ายดุลอำนาจไป

สิ่งที่กองทัพต้องทำตอนนี้คือ แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าต้องไม่รัฐประหาร ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องชัดเจนว่า จะรับผิดชอบต่อการควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่


ขอบคุณข้อมูลจาก  ข่าวสดออนไลน์   khaosod.co.th

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา