เอฟทีมองไทยแตกแยกลึกซึ้ง แม้ไม่ถึงขั้นสงครามชนชั้น แต่รัฐศักดินาแห่งนี้กำลังเกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำกับชาวชนบทที่ตื่นรู้ ชี้ม็อบตั้งป้อมพร้อมรบหน้าทำเนียบ ถ้าเป็นไวท์เฮาส์หรือดาวนิ่งสตรีท ทำไม่ได้แน่
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ เสนอบทรายงานเมื่อ 8 มกราคม เรื่อง "ประเทศไทยบนเส้นทางสู่การปะทะ" ระบุว่า พรรคฝ่ายค้านไม่เพียงต้องการโค่นล้มรัฐบาล แต่ต้องการระงับการปกครองระบอบรัฐสภาด้วย ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ชอบธรรม แม้รัฐบาลได้ยุบสภาไปแล้ว แต่พรรคฝ่ายค้านก็ยังบอยคอตการเลือกตั้ง
เอฟที ยังชี้ด้วยว่า วิกฤตการเมืองไทย อาจนำไปสู่การปะทะระหว่างชนชั้นนำในประเทศศักดินาแห่งนี้ กับชาวชนบทที่ตื่นรู้ถึงพลังของการเลือกตั้ง ที่จะตอบสนองความต้องการของตนได้
นอกจากนี้ รายงานซึ่งเขียนโดยผู้สื่อข่าว ไมเคิล พีล ยังแสดงความประหลาดใจ ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถปักหลักตั้งป้อมค่ายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภาพแบบนี้คงไม่มีใครได้เห็นที่หน้าทำเนียบขาว หรือบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ที่ทำการของรัฐบาลอังกฤษ
พีลรายงานว่า เมื่อเดือนที่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องการยุบสภา ทว่าเมื่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำในสิ่งที่เรียกร้องนั้นในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เขากลับบอกว่า การยุบสภาเป็นเพียง "ขั้นแรก" และประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านอ้างว่า การเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมเพราะมีการซื้อเสียง แต่ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่า ทุกพรรคการเมือง รวมถึงประชาธิปัตย์ แจกจ่ายเงินไปทั่วในช่วงเวลาหาเสียง
รายงานบอกว่า นอกจากยอยคอตการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์แล้ว พรรคฝ่ายค้านยังโหมความพยายามไม่เพียงเพื่อขับไล่รัฐบาล หากยังจะพักใช้การปกครองระบอบรัฐสภาด้วย
วิกฤตในไทยยังสะท้อนถึงความแตกแยกทางสังคมอย่างลึกซึ้ง แม้ความขัดแย้งในประเทศศักดินาแห่งนี้ไม่ถึงขั้นเป็นสงครามชนชั้นเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำเขตเมืองกับประชาชนชาวชนบท ผู้ตื่นรู้ว่าการเลือกตั้งมีพลังที่จะตอบสนองความต้องการของตนได้
"พรรคฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสันติ ซึ่งทางการต้องเคารพ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าว "แต่พรรคฝ่ายค้านกำลังเสียความชอบธรรมลงไปทุกวันๆ ด้วยการประกาศว่า พวกเขาไม่ยอมรับว่า การเลือกตั้งเป็นรากฐานของรัฐประชาธิปไตย"
ไฟแนนเชียลไทมส์ยังอธิบายถึงความนิยมที่ชาวชนบทมีต่อทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นเพราะก่อนหน้ามหาเศรษฐีผู้นี้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อปี 2544 บรรดาชาวไร่ชาวนาและคนอาชีพอื่นๆจำนวนมากรู้สึกว่าตนถูกประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าทอดทิ้งตอนที่พรรคนี้เป็นรัฐบาล คนเหล่านี้จึงหันไปเลือกทักษิณหลังจากเขาให้คำมั่น และทำตามนโยบายต่างๆที่หาเสียงไว้ อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, รับจำนำข้าว นับแต่นั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย
รายงานบอกว่า ความแตกแยกในประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้ประท้วงพากันปักหลักกางเต้นท์ทหาร พร้อมตั้งเครื่องกีดขวาง แม้ไม่เห็นอาวุธ แต่รู้สึกได้ถึงบรรยากาศแบบการทหาร มีรถปิกอัพลายพรางจอดจังก้าที่ทางเข้า การ์ดสวมรองเท้าคอมแบตนั่งคุมเชิง
"ยากที่จะนึกภาพออกว่า เจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตัน หรือลอนดอน จะยอมให้มีปฏิบัติการเช่นนี้บนถนนหน้าทำเนียบขาว หรือบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง" พีลให้ความเห็น และว่า ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลมีแรงสนับสนุนต่ำในเขตเมืองหลวง ขบวนการต่อต้านรัฐบาลประกอบด้วยชาวกรุงเทพฐานะร่ำรวย ในบริเวณที่ชุมนุม เพียบพร้อมด้วยคลังอาหารและยา เครื่องนอน และเครื่องดื่มชูกำลัง
รายงานบอกในตอนท้ายว่า การต่อต้านรัฐบาลกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในด้านตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค มูลค่า 2 ล้านล้านบท แม้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ หากต้องการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า แผนการนี้ขาดทิศทาง สภาไม่ได้ตรวจสอบอย่างเพียงพอ และอาจเกิดการคอรัปชั่น.
ที่มา : Financial Times
ภาพ : AFP
ขอบคุณข่าวจาก news.voicetv.co.th