นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือ ปชป.-กปปส. เข้าร่วมเวทีปฏิรูป ยืนยันทำหน้าที่หลังยุบสภาฯ เพื่อรักษาประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีเผยอยากเห็น กกต. ร่วมรับฟังการประชุมหารือเพื่อพิจาณาข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อรับข้อมูลตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง-ความร่วมมือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แจงต้องแยกปัญหาเป็นสองส่วน คือด้านบริหารจัดการ-ข้อกฎหมาย ระบุทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ติงถ้าไม่รับกติกาใด ๆ บ้านเมืองจะเดินอย่างไร พร้อมขอความร่วมมือ ปชป.-กปปส. เข้าร่วมเวทีปฏิรูป ยืนยันทำหน้าที่หลังยุบสภาฯ ย้ำไม่ได้อยู่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง แต่อยู่เพื่อรักษาประชาธิปไตย
วันนี้ (14 ม.ค.57) เวลา 13.20 น. ณ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณี การเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อพิจาณาข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า สืบเนื่องจากเอกสารของ กกต. ที่จะหารือเรื่องการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งในส่วนนี้เราเห็นว่ามีความจำเป็นในฐานะที่รัฐบาลเป็นผู้ประสานงานภายใต้การทำงานของ กกต. ที่เป็นแม่งานใหญ่ ฉะนั้นเราควรที่จะรับฟังปัญหาจากนักการเมือง จากผู้ปฏิบัติงานด้วยว่าการปฏิบัติงานนั้นเกิดปัญหาอะไร เพื่อจะได้นำไปเป็นข้อคิดในการหารือว่าเราจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรับฟัง และเราอยากเห็นทาง กกต. เข้าไปฟังด้วยเพราะจริง ๆ แล้ว กกต. เป็นแม่งานหลัก ถ้า กกต. ได้รับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็จะเป็นประโยชน์ในแง่ที่จะศึกษาดูว่าปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะร่วมกันแก้ไขและร่วมมือกันย่างไร และคงต้องฟังพรรคการเมืองต่าง ๆ ด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันพรุ่งนี้ กกต. ไม่เข้าร่วมการประชุมหารือ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องเรียนว่าต้องขอร้องทางคณะกรรมการ กกต. เพราะจริง ๆ แล้วถ้า กกต. ไม่เข้าฟัง กกต. ก็จะไม่ได้รับข้อมูลตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และขณะเดียวกันทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ส่งหนังสือมา เราจึงอยากเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหารือพร้อม ๆ กัน เพราะหารือคนใดคนหนึ่งก็ไม่จบ
“เราอยากจะเรียนว่าต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการ จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย และปัญหาข้อกฎหมายก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องพูดแยกกัน แต่ว่าการบริหารการจัดการนั้นก็ยังต้องรับฟังจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่จะต้องมีการพูดคุยกัน ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ได้มีการพูดคุยกัน เราจึงได้เสนอว่าน่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน ก็อยากให้ทาง กกต. มารับฟัง อันนี้จะเป็นสิ่งที่ดีค่ะ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าเหตุผลที่ทาง กกต. เสนอมาให้เลื่อนการเลือกตั้ง ยังไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะตัดสินใจใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ไม่ใช่ค่ะ ต้องเรียนว่าในเอกสารของ กกต. นั้นให้หารือในเรื่องของการเลือกตั้ง และในส่วนของข้อกฎหมายต่าง ๆ ต้องเรียนว่า ข้อกฎหมายก็ต้องมาคุยกัน ที่ต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือการบริหารการจัดการ ถ้าเรามาพูดแต่ตัวกฎหมายว่าจะเลื่อนได้หรือไม่ เลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ขณะเดียวกันปัญหาการบริหารการจัดการก็ยังไม่ได้คุยกัน แล้ววันนี้ทางพรรคการเมืองใหญ่ก็ยังไม่ได้ลง และวันนี้ปัญหาเก่าที่มีอยู่ว่าพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้รับการที่จะเข้าไป เราจะทำอย่างไร อันนี้คือขั้นตอน ยังไม่ต้องไปถึงข้อกฎหมายเลย ไปถึงแค่ขั้นตอนในหลักปฏิบัติว่า เราต้องยึดหลักว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นต้องมาคุยพร้อม ๆ กัน ถ้าเราคุยข้อกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน สตง. ก็บอกว่ายังไม่ให้ดำเนินการ แล้วจะไปได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ดิฉันเองคิดว่าเรามาเปิดใจนั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยการปฏิบัติว่าวันนี้ปัญหาหน้างานเป็นอย่างไร และช่วยกันคิดก่อน แล้วฝ่ายที่รู้เรื่องค่อยช่วยกันแนะนำ อันนี้จะเป็นข้อเสนอ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์หรือทาง กปปส. ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงไม่เข้าร่วม ความพยายามในการที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ของรัฐบาลจะสูญเปล่าหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ อย่างที่เรียนว่าความพยายามก็คงต้องทำต่อไป จริง ๆ แล้วในส่วนของอย่างแรกคือทางด้านการเลือกตั้ง เราอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์แสดงเจตนารมณ์เรื่องการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคมีหน้าที่ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าเราไม่รับกติกาอะไรใด ๆ เลยบ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร ส่วนทางผู้ชุมนุม เราก็ทราบข้อเสนอของผู้ชุมนุม ดิฉันก็เชื่อว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องในเรื่องของการปฏิรูป ทำไมเราไม่ใช้เวทีที่จะมาคุยเรื่องการปฏิรูปให้เกิดขึ้นสักที เพราะว่าการทำอย่างนี้ดิฉันก็มองว่าทุกอย่างประเทศเจ็บปวด และทราบว่าทุกคนได้รับความเดือดร้อน ก็ขอความร่วมมือและขอร้องเถอะค่ะ เรามาร่วมกันเข้าสู่เวทีปฏิรูปเถอะ แล้วอยากจะปฏิรูปอะไร อยากจะแก้ไขอะไร เพื่อให้ทางด้านของการปฏิรูปของภาคประชาชน ให้ปลอดจากนักการเมือง หรือเรื่องของทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะสามารถบังเกิดผลได้ ถ้าเกิดเราเรียกร้องอย่างนี้ บ้านเมืองไปไม่ได้ค่ะ ก็ต้องกราบเรียนว่ากติกาเราไม่มีอะไรยึดหลักเลย แล้วบ้านเมืองจะเดินอย่างไรค่ะ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ทาง กปปส. เดินข้ามเรื่องการเลือกตั้งไปแล้ว แต่เป้าหมายคือการให้นายกรัฐมนตรีลาออก นั่นคือสิ่งที่เรียกร้องอย่างเดียวตอนนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ดิฉันก็เรียนยืนยันหลายครั้งแล้วว่าดิฉันมีหน้าที่ปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่หลังจากการยุบสภาฯ ก็ต้องมีหน้าที่ในการรักษาการณ์ และวันนี้ก็ต้องเรียนว่าดิฉันไม่ได้ยึดติด ดิฉันไม่ได้อยู่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง แต่ดิฉันกำลังทำหน้าที่ในการรักษาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”