วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

อวสานพรรคประชาธิปัตย์ โดย วีรพงษ์ รามางกูร




คอลัมน์ คนเดินตรอก

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เคยประกาศว่า "ผมเชื่อในระบอบรัฐสภา" ก็เลยเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่น เคารพ และศรัทธาในประชาธิปไตย และเป็นสถาบันการเมืองที่จะพาประเทศชาติสู่ความเป็นชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นระบบการเมืองพรรคใหญ่2 พรรค เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเคยฝันหวานว่า เราจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม ตัวแทนของคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้า และจะเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับล่างและคนในระดับรากหญ้าที่ต่างช่วยกันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติทั้ง 2 พรรคจะต่อสู้ แข่งขันกัน ในกรอบของประชาธิปไตย ในสนามเลือกตั้ง ผลัดกันแพ้เป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันชนะเป็นรัฐบาล ตามแต่กระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก

การเป็นพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองทุกแห่งในโลกก็มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นจำนวนมาก ไม่แต่คนในเมือง คนต่างจังหวัดก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าพวกหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จิตวิญญาณของนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่บัดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ล้มเลิกความคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วาทกรรม และการกระทำ กลายเป็นพรรคที่สนับสนุนทหาร สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านประชาธิปไตยไปเสียหมด 

เริ่มจากเป็นพรรคนำ พรรคแรกของการเป็นพรรคภูมิภาคหรือพรรคภูมิภาคนิยม หาเสียงในภาคใต้โจมตีคู่ต่อสู้ โดยการปลุกเร้าภูมิภาคนิยม ดูถูกดูหมิ่นคู่แข่งทางภาคอีสานและเหนือว่าเป็น "ลาว" ดูถูกหัวหน้าพรรคชาติไทยว่าเป็นจีนเกิดในเมืองจีน ดูถูกว่าหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็น "ลาว" ใช้การดูหมิ่น "เชื้อชาติ" เป็นยุทธวิธีในการหาเสียง 

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จเป็นพรรคของคนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามและทำได้สำเร็จเป็นพรรคภาคอีสานและภาคเหนือ พรรคชาติไทยเป็นพรรคภาคกลาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ความที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด 30 ปี และแพ้หนักมากในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีกองทัพและอำนาจเก่ารวมทั้งสื่อมวลชนหลักในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวช่วยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สักที เพราะความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มผู้นำพรรคที่ล้าสมัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อนประชาธิปัตย์จึงกลัวการเลือกตั้ง 

การเป็นพรรคการเมืองที่กลัวการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น Paradoxy เมื่อกลัวการเลือกตั้งก็ตั้งป้อมหาเรื่อง
ติเตียนประณามการเลือกตั้ง เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูของพรรค

พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งอย่างที่สุด เมื่อต่อต้านหลีกเลี่ยงประณามการเลือกตั้ง ตนก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตัวไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนระบอบการปกครองที่ใช้การแต่งตั้ง หรือไม่ก็ใช้วิธีสรรหา ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หันไปสู่การสนับสนุนทหาร พูดจาสนับสนุนองค์กรอิสระที่ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วว่า องค์กรอิสระเหล่านี้มีที่มาจากการรัฐประหารของทหาร หรือกระแสกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งไม่ต้องการประชาธิปไตยแทนที่จะปฏิรูปตัวเองที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ก้าวหน้าได้ ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในต่างจังหวัด เลิกใช้วาทกรรมบิดเบือน กล่าวเท็จในเรื่องข้อกฎหมายและหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวอย่างให้ยกมาเทียบเคียงได้มากมาย หากต้องการ

ทำไปทำมา "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปไตย" นั่นเอง หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาพาดหัวตัวใหญ่ว่า "The Enemy of the Democrat party of Thailand is Democracy" ซึ่งเป็นความจริง แม้ว่าแฟนคลับของประชาธิปัตย์อย่างหนังสือพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่นจะออกมาแก้ตัวให้ก็ตาม

การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยโดยวิธีฉ้อฉลของพรรคเพื่อไทย ใคร ๆ ก็เห็นด้วยจนรัฐบาลต้องถอย แต่กลับฉกฉวยโอกาสชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯว่าเป็น "มวลมหาประชาชน" ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่จริง ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ขโมยสิ่งของของราชการ บังคับขู่เข็ญไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ทำการ ข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เสนอตั้งองค์กรทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและกรอบของประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์รุนแรง ยั่วยุให้มีความรุนแรงเพื่อกรุยทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร

การดำเนินการชุมนุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย เพราะดำเนินการโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ ชวน อภิสิทธิ์ ชินวร ถาวร และผู้นำพรรคคนอื่นที่ยึด "ข้างถนน" เป็นเวทีอภิปราย โจมตีด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ใช้วาทกรรมที่โกหกมดเท็จซ้ำ ๆ ซาก ๆปั้นน้ำเป็นตัวครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมิได้เกรงใจสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เขาเป็น "ผู้ดี" มีจิตใจเป็นธรรมและเป็นนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

การที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เกรงกลัวการ "เลือกตั้ง" และยอมรับว่า "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตย" อย่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พาดหัวข่าว ประชาธิปัตย์ไม่อาจแก้ตัวได้เลย พฤติกรรมที่แสดงว่ากลัวการเลือกตั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็คือการประกาศ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งปฏิรูปอย่างไร ถ้าประชาชนเขาไม่เลือก ประชาธิปัตย์ก็แพ้อยู่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดการเลือกตั้ง หรือกฎหมายเลือกตั้ง 

ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่เลือกมากกว่า จะให้แก้กฎหมายเลือกตั้งอย่างไรก็ยังแพ้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังถูกเกาะกุมโดยกลุ่มผู้นำเก่าที่ล้าสมัย ยังคิดแบบเดิม ๆ ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการแข่งขัน ที่สำคัญ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลโดยการช่วยเหลือของกองทัพ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าทำงานไม่เป็น คิดไม่เป็น เป็นแค่ทำความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ทั้งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ภาพพจน์ของประเทศเสียหายเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ 

พรรคการเมืองนั้นต้องเอาดีในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นของแท้ถ้าประชาธิปัตย์เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูและพยายามต่อสู้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยการออกตัวไปเป็น "เครื่องมือรับใช้สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" แต่มีอำนาจแฝง เช่น กองทัพ องค์กรอิสระ รวมทั้งการได้ขายจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่สง่างาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วในระยะยาว

การ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการบังคับตัวเองให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประณามไปทั่วโลก จะมีชมเชยบ้างก็สื่อมวลชนที่ล้าหลังภายในประเทศการที่พรรคคว่ำบาตร ทำให้ผู้นำพรรคก็ดี สมาชิกที่ภักดีต่อพรรคก็ดี ถูก "บังคับ" ให้ทำตัวเป็นนักต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย วาทกรรมดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จทั้งในด้านหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่สำคัญก็คือบังคับตัวเองให้ขัดขวางต่อต้านองค์กรที่จัดเลือกตั้งคือ กกต.และกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ให้ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง แม้จะพยายามหาเหตุผลมาบิดเบือน อย่างไรก็ตามถ้า กกต.เกิดถูกบังคับ จะโดยกฎหมาย หรือความกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนใหญ่อย่างหนักจนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ ก็จะไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสภา จะมีพรรคอื่นมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแทน และถ้าฝ่ายค้านนั้นมีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีวาทกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย เลือกตั้งคราวต่อไป อย่างน้อยคนกรุงเทพฯอาจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยก็ได้ ถึงเมื่อนั้นประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปก็ได้

ถ้ายังยืนกรานไม่เปลี่ยนตัวผู้นำในพรรคที่เกาะกุมอำนาจในพรรคมากว่า 40 ปี ยังมีความคิดเดิม ๆ ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิมคิดอะไรไม่เป็นเหมือนเดิม เอาแต่คิดว่าจะพูดจาถากถางเหน็บแนมปั้นน้ำเป็นตัวทำลายผู้อื่นเพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแก่ตัวอายุมากขึ้นทุกวัน ก็เชื่อได้ว่าเลือกตั้งอีกไม่กี่ครั้ง นอกจากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วผู้นำฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้เป็น

ถ้ายังเป็นพรรคที่เชื่อในตัวบุคคล หรือลัทธิบุคลาธิษฐานอยู่ ไม่ได้เชื่อในระบบ เหมือน ๆ กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้า สังคมไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานความเชื่อในลัทธิบุคลาธิษฐานจะคลายความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เพราะบุคคลไม่อาจดำรงคงอยู่ตลอดกาล และเมื่อถึงจุดนั้น การชูบุคคลเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะลดความสำคัญลง พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ควรจะคิดถึงเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่น ๆ

การใช้กลเม็ดในการหาเสียงหรือดำเนินการทางการเมืองด้วยการไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีนอกกรอบประชาธิปไตย นอกระบบพรรคการเมือง เท่ากับเป็นการต่อต้านพลวัตทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ของพรรคการเมือง เป็นวิธีการรับ "ความรู้สึก" ของประชาชนฐานเสียงของตัวเองอย่างแท้จริงว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้วอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

ที่มา  khaosod.co.th

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา