กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทย ที่รับมือการประท้วงปิดกรุงเทพฯของฝ่ายต่อต้าน โดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่สื่อต่างชาติ ยังคงเกาะติดสถานการณ์ "ชัตดาวน์"กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส.อย่างใกล้ชิด
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง รวมทั้งใช้ความอดทนอดกลั้น และเคารพต่อหลักกฎหมายของบ้านเมือง
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังกล่าวชื่นชมรัฐบาลไทย ที่ใช้ความอดทนในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจรจา และการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ
ด้านปฏิกิริยาของสื่อต่างชาติที่ยังคงติดตามความคืบหน้าการ"ชัตดาวน์"กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส.อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักข่าวอัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนยังคงปักหลักปิดการจราจรตามแยกต่างๆ ใจกลางกรุงเทพฯติดต่อกันเป็นวันที่สอง โดยการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ยังคงมีบรรยากาศคล้ายงานเทศกาลรื่นเริง
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผู้ประท้วงได้ยกระดับการชุมนุมวันนี้ด้วยการเดินทางไปปิดล้อมกระทรวงต่างๆ ส่วนแกนนำหัวรุนแรงของผู้ชุมนุม ได้ข่มขู่ที่จะบุกเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ประธานตลาดหลักทรัพย์ยืนยันว่า ได้มีการเตรียมแผนฉุกเฉิน เพื่อดูแลสถานที่ และระบบซื้อขายหลักทรัพย์ หากถึงเวลาจำเป็นไว้เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า การชุมนุม"ชัตดาวน์"กรุงเทพฯครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของการประท้วงในไทย แต่สีหน้าท่าทางของกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมดูอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด และดูไม่มีพลังเหมือนที่ผ่านๆมา เนื่องจากการประท้วงได้ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่สามแล้ว
นอกจากนี้ นายโจนาธาน เฮด ยังรายงานว่า แม้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะรู้ดีว่า พวกเขากำลังเรียกร้องอะไร แต่ผู้ประท้วงก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มผู้สนับสนุนเธอจำนวนมากที่อยู่ตามต่างจังหวัด ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ยังวิเคราะห์อีกว่า ยิ่งการประท้วงที่เหนื่อยล้ายืดเยื้อต่อไป การเผชิญหน้าระหว่างคู่ขัดแย้งในไทย ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ขณะที่โอกาสในการเกิดรัฐประหารโดยกองทัพรอบใหม่ แม้จะยังมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยบีบีซีชี้ว่า ฝูงชนที่ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการเมืองที่บรรดาแกนนำของทุกฝ่ายใช้เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และเป็นเทคนิคแก้ไขสถานการณ์ในยามวิกฤติเท่านั้น
ที่มา http://news.voicetv.co.th