วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ศาลรธน.มีมติ 8-0 เลื่อนเลือกตั้งได้ ให้นายกฯ-กกต.หารือร่วมกัน - ปิยบุตรแนะ "ปู" อย่าเลื่อนโหวต


วันที่ 24 ม.ค. จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย พิจารณาเรื่องวันเลือกตั้ง ตามที่กกต.ได้ยื่นเรื่อง เนื่องจากเห็นว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกามีความเห็นขัดแย้งกัน ว่าควรให้จัดเลือกตั้งอยู่หรือไม่ ในสภาวะทางการเมืองที่ไม่ปกติ มีการชุมนุมปิดกรุงอยู่ขณะนี้ ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการแจกเอกสารชี้แจงคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 โดยการเลื่อนเลือกตั้งสามารถทำได้ โดยเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและประธานกกต. ต้องร่วมกันหารือกันเพื่อออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่

 ทั้งนี้ ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาล รธน. ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติใน 2 ประเด็นดังกล่าวนั้น สาเหตุมีดังนี้ ประเด็นที่ 1 วันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ใน พรฎ.ยุบสภาจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่อย่างไร

"สรุปได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 108 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญก็มิได้บังคับเป็นการเด็ดขาดว่า จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ไม่ได้เลย เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป้นอย่างอื่นขัดขวางทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้ หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ความมั่นคงแห่งรัฐ หรือภัยพิบัติสาธารณะอันสำคัญ ก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่จากที่กำหนดไว้ใน รฎ.ยุบสภาได้ตามสภาพการณ์แห่งความจำเป้น ดังกรณีเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศไทยเมื่อครั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ใน พรฎ.ยุบสภา พ.ศ.2549 เป็นวันที่ 2 เม.ย.2549 ต้องถูกำหนดขึ้นใหม่ตาม พรฎ.แก้ไขเพิ่มเติมวันเลือกตั้ ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2549 ที่ได้กำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่เป็วันที่ 15 ต.ค.2549 หลังจากที่ศาล รธน.ได้วินิจฉัยชี้ขาดให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำเนินการไปไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

"ประเด็นที่ 2 การกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรใด

"สรุปได้ว่าในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษาหารือร่วมกับ กกต. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 บัญญัติให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และวรรคสอง บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2551 ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบดด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้ง พรฎ.ยุบสภา พ.ศ.2556 มาตรา 5 ก็บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พรฎ.ดังกล่าวร่วมกับนายกฯ ด้วย เพื่อให้บุคคลทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบจัดการการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

"ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดวันเลอืกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่จากวันเลือกตั้งทั่วไปเดิมที่กำหนดไว้ใน พรฎ.ยุบสภา ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกฯ และประธาน กกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจะต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ และความเสียหายร้ายแรงมิให้เกิดแก่ประเทศชาติหรือประชาชนด้วยความสุจริต และถือประโยชน์ของประเทศชาติและสันติสุขของประชาชนเป็นสำคัญ

"หากมีเหตุที่จะนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชน อันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งท้่วไปตามที่กำหนดไว้ใน พรฎ.ยุบสภา กกต.ก็ชอบที่จะต้องแจ้งให้นายกฯ หรือ ครม.ทราบ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตรา พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกฯ และประธาน กกต.ในฐานะผู้รักษาการตาม พรฎ.ยุบสภาที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปสำเร็จลุล่วงได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ"

 ต่อมา ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มสปป. หรือ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย  โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ได้อ่านเอกสารที่ สนง.ศาลรธน. เผยแพร่ มี ๓ หน้า แล้ว พบว่า ศาล รธน "มั่ว" อีกแล้วครับ  ๑. ใช้มุขเดิม เขียนคลุมๆว่าทำได้ แต่ไม่บอกว่า มาตราไหน บทบัญญัติใด  ๒. ไปอ้างเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตอนปี ๔๙ ซึ่งคนละเรื่อง ครั้งนั้น เลือก ๒ เมษา แล้วศาล รธน และศาลปกครอง มาเพิกถอนการเลือกตั้งทั้งประเทศ เลยต้องแก้ พรฎ ใหม่ กำหนดวันที่ ๑๕ ตค ๔๙ แทน

 "ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของพวก "นักร้อง" ของ สว และ ปชป ที่จะไปเสนอคำร้องตามองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งคำร้องเก่าๆที่คาไว้อยู่ เพื่อ "เชือด" รัฐบาลรักษาการ

 "นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยืนกรานไม่เลื่อนเลือกตั้ง นะครับ ศาลรัฐธรรมนูญ กับ กกต อยากเลื่อนให้ไปหาวิธีเลื่อนกันเอง เพราะนายกฯไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเลื่อนได้ ที่ศาล รธน บอกว่าเลื่อนได้ในประเด็นแรกนั้น ศาล รธน ก็ไม่ได้บอกว่ารธน. มาตราไหน และตัวอย่างที่ศาลรธน. ยกมา ก็ผิดด้วย

 "ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ชอบทิ้ง "เชื้อ" ไว้ ไม่ยอมวินิจฉัย ไม่กำหนดคำบังคับ ไม่สั่ง แต่ทำทีเป็น "แนะนำ" ประจำ ก่อนหน้านั้น ก็เรื่องแก้ รธน วันนี้ ก็มาฟอร์มนี้อีกแล้ว"

 วันเดียวกัน นายสมชัย  ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใหม่โดยให้ประธานกกต.และนายกรัฐมนตรีหารือร่วมกันว่าคำวินิจฉัยนี้ถือเป็นทางออกที่ดี เป็นประตูอีกบานหนึ่งที่เปิดให้กับรัฐบาลที่ไม่ใช่มองแค่การเลือกตั้งอย่างเดียว ที่จะเป็นทางออก แต่ชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมายสามารถเลื่อนการจัดการเลือกตั้งได้  แต่ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาในออกพระราชกฤษฎีกาเลือกต้ังใหม่ ตนคิดว่า น่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะระหว่างน้ันรัฐบาลก็คงต้องรักษาการอยู่ อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะเลื่อนการเลือกต้ังออกไป 3 เดือน ทั้งนี้คาดว่า กกต. น่าจะมีการนัดหารือกับรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆในวันที่ 27 ม.ค.นี้ และคาดว่าหากมีการหารือกันแล้วก็อาจจะมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ในวันที่ 28 ม.ค.  ส่วนการเลือกต้ังล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ก็ยังคงมีการเลือกต้ังต่อไปจนกว่าจะได้มีการหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาล

 เวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร รมว.ประจำสำนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ โดยให้นายกฯ และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปหารือว่า เบื้องต้นได้รายงานนายกฯ ผ่านเลขาธิการนายกฯ แล้ว โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นรัฐบาลคงต้องขอพิจารณาคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มก่อน โดยจะต้องศึกษาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เบื้องต้นได้คุยกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ได้มีความเห็นว่าควรเอาคำวินิจฉัยฉบับสมบรูณ์มาพิจารณาอย่างละเอียดก่อน และต้องดูด้วยว่า กกต.ในฐานะผู้ร้องจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลจึงจะกำหนดท่าทีอีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่มีการนัดหมายจาก กกต.ให้หารืออย่างเป็นทางการ หากจะมีการนัดในวันที่ 27 ม.ค.นี้ กกต.จะมีการกำหนดประเด็นหารือย่างไร ทั้งนี้ เชื่อว่านายกฯ คงไม่ขัดข้องที่จะร่วมหารือกับประธาน กกต.เพื่อประโยชน์และให้เกิดความเรียบร้อย  

 นายวราเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.​คงจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งไว้แล้ว ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเป็นอำนาจ กกต. ในส่วนของ พ.ร.ฎ.เดิมที่มีอยู่ จะต้องดำเนินการอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกครั้ง

 “มองว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้นหากดำเนินการได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และปลดล็อกปัญหาความขัดแย้งได้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่บอยคอตการเลือกตั้ง กลุ่ม กปปส.ยุติการชุมนุม ก็พร้อมดำเนินการ แต่หากยังมีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เป็นเรื่องไม่สมเหตุผล” นายวราเทพ กล่าว

 ขณะที่ ดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า การเลื่อนวันเลือกตั้ง สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ?

 ดร.วีรพัฒน์ ระบุว่า  ประเด็นแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ ความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจประสบปัญหาจากการชุมนุมประท้วงและการปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง จนทำให้เลือกตั้งไม่สำเร็จลุล่วง ด้วยเหตุนี้ การเลื่อนวันเลือกตั้ง (ซึ่งศาลเองก็มิได้บังคับ) นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มเติมตามมา ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วย 

เพราะแม้จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ทางฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงก็จะยังปฏิเสธการเจรจาหารือใด ๆ และวันเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปก็จะยังมีปัญหาอยู่ดี  ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด จึงไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องแก้ไขที่ "ต้นเหตุ" ของปัญหา นั่นก็คือการจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงที่อ้างเสรีภาพจนเกินเลยขอบเขตตามรัฐธรรมนูญเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้ง อันเท่ากับเป็นการมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนวิธีการได้อำนาจการปกครองให้ผิดไปจากวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ อาทิ

- อัยการสูงสุดควรเร่งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 สั่งห้ามการกระทำเพื่อปิดกั้นการเลือกตั้งดังกล่าว

- ประชาชนทั่วไปผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิการเลือกตั้งที่ถูกกระทบกระเทือน ก็ควรดำเนินการทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิในการไปเลือกตั้งของตน 

- เจ้าหน้าที่ทหารต้องสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มความสามารถ

เมื่อได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้หากการเลือกตั้งจะยังมีปัญหาอยู่ แต่ก็ยังแก้ไขได้โดยการจัดการเลือกตั้งใหม่เฉพาะในเขตที่มีปัญหา มิใช่คาดเดาและเหมารวมว่าปัญหาจะต้องเกิดขึ้นในทุกเขตประหนึ่งว่ารัฐไทยเป็นรัฐล้มเหลวที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้แต่อย่างใด

"ในขณะเดียวกัน รัฐบาล พรรคการเมือง แกนนำผู้ชุมนุม และทุกฝ่าย ควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างจริงใจและจริงจัง ซึ่งย่อมต้องรวมไปถึงการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน" ดร.วีรพัฒน์ ชี้

ที่มา ข่าวสด   khaosod

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา