----------
ไม่มีผู้สมัครใน 28 เขต จะมีผลอย่างไร จะทำอย่างไร
----------
จริงๆ กกต.จะต้องรับสมัครเพิ่มเติม แต่ถ้า กกต.ไม่ทำ เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ก็จะมี 28 เขตที่ไม่มีผู้แทน กกต.ก็ต้องประกาศรับสมัครใหม่เพื่อเติมที่ขาด เหมือนเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ในกฎหมายเลือกตั้งบัญญัติรองรับปัญหานี้ไว้ว่าเขตใดมีสมัครคนเดียว ผู้นั้นจะได้รับเลือกต่อเมื่อได้เสียงมากกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมากกว่าบัตรที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน แต่หากไม่ได้ตามนั้น ให้ กกต.ประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครใหม่ จัดการเลือกตั้งใหม่ หลักการนี้จะนำไปใช้กับ 28 เขตดังกล่าว
การตีความว่า 28 เขตทำลายการเลือกตั้งได้ จะเป็นการตีความที่ประหลาดมาก เพราะอีกหลายร้อยเขตเขามีผู้สมัครแล้ว จะไปทำลายเจตจำนงที่ต้องการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ไม่ได้
----------
จะเปิดสภาได้หรือไม่
----------
ตรงนี้อาจเป็นระบบเฉพาะของบ้านเราที่แปลกว่าที่อื่น
โดยหลักการทั่วไป การออกเสียงลงคะแนนของประชาชนมีผลเท่ากับแต่งตั้งผู้แทนของตน เรากำลังใช้อำนาจสูงสุดของเราไปทำการแต่งตั้งตัวบุคคลไปใช้อำนาจแทนเรา เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วก็ต้องประกาศผลคะแนน จากนั้นบุคคลนั้นก็เป้นผู้แทนฯ ไปอัตโนมัติ นี่เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ แต่บ้านเราเราไม่ไว้ใจนักการเมือง อยากจะสกรีนคน หากจำกันได้ช่วง 10 กว่าปีก่อน กกต.คนหนึ่งบอกว่าจะไม่ยอมให้คนชั่วเหยียบบันไดสภา ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้ กกต.มีอำนาจเบรคอำนาจประชาชนได้ โดยต้องให้ กกต.รับรองผลก่อน มันก็เป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเปิดประชุมสภาออกไป บางกรณีอาจถูกเพิกถอน ถ้าหลายๆ เขตก็เปิดสภาไม่ได้
รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้ากรณีใดทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของสมาชิกทั้งหมด ถือว่าเปิดสภาได้ (ไม่ต่ำกว่า 475 คน) กฎหมายเขียนต่อว่า ถ้าไม่ถึงต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ให้ครบภายใน 180 วัน พูดง่ายๆ ว่า มีเวลา 6 เดือนในการจัดการเลือกตั้งให้เปิดสภาได้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้เขียนต่อว่า 6 เดือนแล้วยังไม่ได้จะทำอย่างไร เพราะคงไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ผมเองก็ยังไม่อยากคิดเรื่องนั้น เพราะมันต้องทำทีละสเต็ป แต่หากไม่ได้จริงๆ คงต้องใช้วิธีการตีความรัฐธรรมนูญตามประเพณีที่ผ่านมา ในที่สุดต้องยอมให้เปิดได้ เช่น อาจมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งก็สามารถเปิดสภาได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสภาพการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหากปักธง 2 ก.พ.ได้ ถ้าได้สมาชิกได้หลายร้อยคนแล้ว ทีเหลือก็ค่อยๆ ตามเก็บจนถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด
มาตรา 93 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
----------
กกต.ควรทำอย่างไร
----------
จริงๆ 28 เขตที่ผู้สมัครมาสมัครไม่ได้ กกต.สามารถออกประกาศขยายวันสมัครรับเลือกตั้ง และเปลี่ยนแปลงสถานที่รับเลือกตั้งได้ ทำที่เขตอื่นก็ได้ เช่น ที่กทม. เพราะกกต.สามารถออกประกาศอันจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง แต่กกต.ไม่ทำ อ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับทั้งที่จริงๆ แล้วมีอำนาจ แต่กกต.กลับไล่ผู้ลงสมัครไปฟ้องศาลฎีกา ซึ่งไม่ใช่กรณีนี้ เป็นกรณีที่สมัครได้แล้วไม่ได้เบอร์
อยากแลกเชอร์หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้นให้กกต.ด้วย การที่ กกต.บอกว่าทำไม่ได้เพราะ “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” คือ ต้องเข้าใจว่าหลักการนี้มีขึ้นเพื่อประกันสิทธิราษฎร หากจะกระทำการใดที่อาจกระทบสิทธิของราษฎรอันนี้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจโดยฐานต้องมาจากรัฐสภาเนื่องจากมีความชอบธรรมสูงสุดที่เชื่อมโยงมาถึงประชาชนเจ้าของอำนาจได้ ที่กำหนดแบบนี้เพื่อกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ จะใช้อำนาจกระทบสิทธิบุคคลต้องมีกฎหมายให้อำนาจ แต่เรื่องที่เกิดขึ้น การประกาศของ กกต. ไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพใครเลย ในทางกลับกันทำให้สิทธิของคนจะไปเลือกตั้งและคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ใช้สิทธิโดยสมบูรณ์ ผลักดันให้สิทธินั้นเกิดโดยบริบูรณ์ มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ด้วย ดังนั้น ยืนยันว่า กกต.ทำได้
----------
คนออกเสียงต่างประเทศแล้วทำอย่างไร
----------
คนในต่างประเทศก็สามารถเลือกปาร์ตี้ลิสต์ และส.ส.เขตได้ แต่อาจมีคนบางคนที่อยู่ใน 28 เขตนั้นด้วย ทำให้เลือกได้แต่ปาร์ตี้ลิสต์ กกต.อาจถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไร ก็ไม่ยาก ก็ประกาศเวลาที่เหลืออยู่ให้เขาสมัครรับเลือกตั้ง และให้ผู้จะใช้สิทธิที่อยู่ในเขตนั้นตามมาออกเสียงเสีย เหลืออีกสองสัปดาห์ก็ยังทำได้ แต่ดูแนวโน้มเขาคงไม่ทำ ไม่เป็นไร เราก็เดินตาม 2 ก.พ. ถึงวันนั้นทั้งประเทศจะมองไปที่ 28 เขตนั้นด้วยสายตาสงสัยขุ่นมัวว่าทำไมยังไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ แล้วก็ค่อยๆ เก็บไปให้ครบ
----------
วันเลือกตั้งอาจมีการปิดคูหาเลือกตั้งก็ได้ ทำอย่างไร
----------
กกต.มีอำนาจเยอะมาก สั่งขอความร่วมมือได้หมด ใครไม่ให้ความร่วมมือมีโทษด้วย ปลัดกลาโหมก็รับปากว่าจะเข้าไปช่วยดูแลหากกกต.สั่งให้ไปช่วย
---------
จากเวที เส้นทางกฎหมาย สู่การเลือกตั้งและการปฏิรูป
ชมคลิปย้อนหลังได้ที่: http://youtu.be/R3W_8RyifMU
Posted in: