วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๓ ง ได้ลงประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ
คำสั่งนายกรัฐมนตรี
ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๗
เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ
----------------------------------
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ แล้ว นั้น
เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ วรรคสาม วรรคห้า และวรรคหก มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้
ข้อ ๑ ให้ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา ๗ วรรคห้าแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีผู้ปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
๑.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการ
๑.๒ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้อำนวยการ
๑.๓ ปลัดกระทรวงกลาโหม รองผู้อำนวยการ
๑.๔ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรรมการ
๑.๕ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก กรรมการ
๑.๖ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ กรรมการ
๑.๗ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ กรรมการ
๑.๘ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
๑.๙ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
๑.๑๐ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
๑.๑๑ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ
๑.๑๒ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ
๑.๑๓ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการ
๑.๑๔ ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
๑.๑๕ อัยการสูงสุด กรรมการ
๑.๑๖ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
๑.๑๗ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการ
๑.๑๘ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรรมการ
๑.๑๙ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรรมการ
๑.๒๐ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
๑.๒๑ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการ
๑.๒๒ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการ
๑.๒๓ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรรมการ
๑.๒๔ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรรมการ
๑.๒๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กรรมการ
๑.๒๖ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กรรมการ
๑.๒๗ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กรรมการ
๑.๒๘ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
๑.๒๙ ผู้แทนเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๑.๓๐ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ข้อ ๒ ให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ ๓ ให้ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๓.๑ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีรักษาการและประกาศของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง
๓.๒ จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการได้ตามที่เห็นสมควร
๓.๓ ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๓.๔ ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
๓.๕ จัดกำลังตำรวจ ทหาร และพลเรือนดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่นั้น ๆ ดำเนินการป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก
๓.๖ จัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
๓.๗ มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
๓.๘ เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสาร หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร
๓.๙ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็น
๓.๑๐ ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ ๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
คำสั่งนายกรัฐมนตรี
ที่ พิเศษ ๒/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไข
สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
-----------------------------------
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ แล้ว นั้น
อาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคหก และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ข้อ ๒ ให้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ข้อ ๓ ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบตามข้อ ๒ มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) บังคับบัญชาและสั่งการส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
(๒) ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้กำกับการปฏิบัติงานมอบหมาย
ข้อ ๔ ให้ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดดังกล่าว และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายกำหนด
ข้อ ๕ ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
คำสั่งนายกรัฐมนตรี
ที่ พิเศษ ๓/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะบุคคลเป็นที่ปรึกษาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
----------------------------------------
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ แล้ว นั้น
เพื่อประโยชน์ในการประสานการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์และความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่
๑. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประธานที่ปรึกษา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการต่างประเทศ
๒. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองประธานที่ปรึกษา
รองนายกรัฐมนตรี
๓. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่ปรึกษา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๔. นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๕. นายวราเทพ รัตนากร ที่ปรึกษา
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๖. นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาและโฆษกและเลขานุการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๗. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ปรึกษาและผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน
ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘