วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

สปป.โต้ศาลรธน. สั่งรัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง ไร้ฐานกม.รองรับ เท่ากับสั่งนายกฯทำผิดกฏหมาย

สมัชชาประชาธิปไตย โต้ศาลรธน.ระบุุคำวินิจฉัยให้เลื่อนเลือกตั้ง ไร้ข้อกฏหมายรองรับ ปฏิบัติไม่ได้ ชี้ก่อปัญหาตามมาอีกมาก เท่ากับสั่งนายกฯทำผิดรธน.และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ที่ยกมาเทียบเคียงก็เป็นคนละเรื่องกัน

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ดังนี้
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และวินิจฉัยว่ากรณีที่มีเหตุจำเป็น ก็อาจกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่จะต้องกระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้เดิม โดยการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งนั้น
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ได้พิจารณาคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีความเห็นดังนี้
---๑----
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ขาดความชัดเจน และก่อให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คำนึงว่ากระบวนการเลือกตั้ง ตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง และการออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว การวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ โดยการให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนำพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเลือกตั้งที่กำหนดไว้เดิมทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยได้นั้น ไม่ชัดเจนว่าเป็นการเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้แต่เดิมคือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ออกไปเท่านั้น แต่ยังคงถือว่าการสมัครรับเลือกตั้งและการออกเสียงลงคะแนนที่ได้กระทำมาแล้วในต่างประเทศยังมีผลอยู่ในทางกฎหมาย หรือจะถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำมาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นผลลงและจะต้องเริ่มกระบวนการจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครรับเลือกตั้ง
หากถือว่าการสมัครรับเลือกตั้งและการออกเสียงลงคะแนนที่ได้กระทำมาแล้วในต่างประเทศยังมีผลอยู่ในทางกฎหมาย แต่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปออกไปได้เท่านั้น การเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จะเลื่อนออกไปได้นานเท่าใด และมีกรอบหรือฐานทางกฎหมายใดเป็นเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปออกไป
หากถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาแล้วสิ้นผลลงและจะต้องเริ่มกระบวนการสมัครรับเลือกตั้งใหม่ กรณีย่อมจะเกิดปัญหาว่าผู้ที่เสียหายจากกรณีดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชำระค่าสมัครและดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว หรือผู้ที่ออกเสียงลงคะแนน จะฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายจากใคร และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่ อย่างไร ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ โดยยังมิพักต้องคำนึงถึงบรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การแจ้งสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการไปแล้ว
---๒----
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในส่วนของการวินิจฉัยว่ากรณีที่มีเหตุจำเป็น ก็อาจกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างอิงข้อกฎหมายที่เป็นฐานแห่งอำนาจดังกล่าวประกอบการให้เหตุผลในคำวินิจฉัย คงอ้างการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่เคยเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งไม่ตรงกับกรณีที่เป็นปัญหาในคำวินิจฉัยนี้สนับสนุนความเห็นของตนเท่านั้น
สปป.ขอตั้งข้อสังเกตว่า การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ คือวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักการออกเสียงลงคะแนนโดยลับ ซึ่งโดยเหตุผลของเรื่อง ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ มิฉะนั้นคณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะดำรงตำแหน่งอยู่ตลอดไป ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ในทางกฎหมาย แต่กรณีที่เป็นปัญหาตามคำวินิจฉัยนี้ ยังไม่เกิดการออกเสียงลงคะแนนในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เลย จึงไม่สามารถนำกรณีที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๙ มาเทียบเคียงได้
การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถหาฐานทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด มาสนับสนุนการวินิจฉัยให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปต่างจากที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ จะต้องรับผิดชอบทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมายเอง โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีกระทำการโดยไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับอำนาจกระทำการของนายกรัฐมนตรีนั้น ยังสุ่มเสี่ยงที่จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๗ ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิจารณาอรรถคดีของศาลต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ด้วย
---๓----
เมื่อพิจารณาจากอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคดีไว้พิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า การรับคดีดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ ซึ่งบัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”
เนื่องจากตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้ปรากฏความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเลย เพียงแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่าควรที่จะเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ออกไปก่อนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความเห็นและความต้องการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องตอบสนองความต้องการของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติเช่นนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งในสำเร็จลุล่วงไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่
การรับคดีที่มีลักษณะเป็นเพียงความเห็นหรือความต้องการขององค์กรของรัฐไว้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรทางรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะในอนาคต หากมีองค์กรทางรัฐธรรมนูญองค์กรใดไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปตามกฎหมาย องค์กรนั้นก็อาจตั้งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา เพื่อให้การเป็นไปตามความประสงค์ของตนได้ โดยอ้างเหตุความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งอันที่จริงแล้ว หามีเหตุเช่นนั้นไม่
เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งปวงที่ปรากฏในคำวินิจฉัยแล้ว สปป.เห็นว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเองว่าการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการเลือกตั้งไม่สามารถตกลงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยเหตุที่ว่าไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้เดิม หรือเหตุที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความชัดเจนในแง่ของขอบเขตอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการเลือกตั้งว่าจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเท่านั้นหรือสามารถล้มเลิกกระบวนการดำเนินการเลือกตั้งที่ได้กระทำมาแล้วได้
ย่อมต้องถือว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปไว้เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ คณะกรรมการเลือกตั้งย่อมมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดให้การเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ ๒๖ มกราคม ที่จะถึงนี้ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจย่อมมีทั้งความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายในการออกเสียงลงคะแนนในวันเลือกตั้งทั่วไป ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
๒๔ มกราคม ๒๕๕๗

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา