วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน 60 วัน ตั้ง "เฉลิม" คุมศรส. - ภราดรชี้ไม่ปิดสื่อ



 เวลา 18.30 น. วันที่ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน กินระยะเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 57 พื้นที่บังคับใช้ตามพรบ.ความมั่นคงเดิม ประกอบด้วย กรุงเทพฯ , นนทบุรี , ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี , บางพลี สมุทรปราการ ตั้งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีแรงงาน เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.)  


 เวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานเพิ่มเติมว่า ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กำกับดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) พร้อมด้วยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ร่วมแถลงผลประชุมครม.

 นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ครม.พิจารณาตามที่ศอ.รส. ได้ประชุมหารือและประเมินเหตุการณ์การชุมนุม เห็นว่าผู้ชุมนุมประท้วงโดยการนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯกปปส. และพวกกระทำการละเมิดกฎหมายมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดสถานที่ราชการ ธนาคาร และมีการข่มขู่คุกคามไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ และกระทำบังคับขืนใจข้าราชการและผู้บริหารของหน่วยงานราชการนั้นเป่านกหวีด หรือกระทำตามที่ผู้ชุมนุมต้องการเสมือนว่าพนักงานเห็นด้วยการการชุมนุมปประท้วง อีกทั้งมีผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ครม.จึงตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2557 เป็นเวลา 60 วัน ให้บังคับใช้ในพื้นที่ที่มีการประกาศพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอยู่ในขณะนี้ คือ กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี  จ.สมุทรปราการ เฉพาะอ.บางพลี และจ.ปทุมธานี เฉพาะอ.ลาดหลุมแก้ว เพื่อใช้ดูแล ควบคุมสถานการณ์ มีเป้าหมายเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดกับกลุ่มผู้สนับสนุนการชุมนุม เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยและประเทศไทยเดินหน้าต่อไป 

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า การชุมนุมของกลุ่มนายสุเทพ การกระทำที่เกินขอบเขตก่อเหตุความรุนแรงต่อผู้ประท้วง โดยกลุ่มผู้ที่ไม่ประสงค์ดี จนประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อต่างๆ ในทางที่ยุยง บิดเบือน สร้างความแตกแยก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลยืนยันว่ายึดหลักสากล ไม่ใช้กำลังและอาวุธในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม  อย่างไรก็ตามที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะทูตต่างประเทศในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ส่วนจะเป็นสถานที่และเวลานั้นจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ด้านร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สำหรับการสั่งการ จะใช้ชื่อศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศรส.) ซึ่งตนทำหน้าที่ร่วมกับพล.ต.อ.อดุลย์ เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะเคยทำงานด้วยกันมาแล้วเมื่อครั้งที่ตนเป็นรองนายกฯ ทั้งนี้ตนไม่อยากให้เวทีของ กปปส.นำเอาสิ่งที่ไม่เป็นความจริงมาพูดอีกแล้ว จึงมีแนวคิด 5ข้อ คือ 

1.ใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเป็นหลัก หากไม่ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ชุมนุมก็ไม่ยำเกรงและยังละเมิดกฎหมายบ้านเมือง 

2.รัฐบาลและคณะทำงานของรัฐบาลยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตร์ิย์ทรงเป็นประมุข ยึดมั่น อย่าไปพูดเป็นอย่างอื่น 

3.ให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิ์ชุมนุมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ จะไม่มีปัญหา แต่ทุกวันนี้ยังเป็นเวทีของการใส่ร้ายป้ายสี ด่าผู้นำประเทศปปส.ไม่เคารพสิทธิ์ผู้อื่น 

4.ขอให้นักข่าวสบายใจว่าจะไม่เข้าสลายม็อบในเวลากลางคืน จะไม่ใช้อาวุธ ปืนเอสเค เอ็ม16 อาก้า หลักสากลมีอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์แต่เราไม่มีนโยบายสลายม็อบ 

5.ผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้องต้องเคารพสิทธิ์คนอื่นเช่นเดียวกัน ตนขอให้ไปบอกนายสุเทพ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่ารัฐบาลยึดหลักนี้ ถ้าคุณทำแบบนี้ คนที่มีหมายจับต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนายสุเทพมีข้อหากบฎ ตำรวจสามารถดำเนินการได้ และในวันที่ 22 ม.ค.เวลา 13.00 น.จะมีการประชุมศรส.นัดแรก ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

เมื่อถามว่าใช้เหตุผลอะไรในการประกาศใช้บังคับ 60 วัน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า คิดว่าระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเรียบร้อย และเพื่อดูแลการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. การที่ครม.รักษาการขยายพ.รบ.ความมั่นคงหรือใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะรัฐบาลรักษาการก็คือรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นายกฯ มอบนโยบายให้ศรส.ว่าให้เน้นการเจรจา ไม่ใช้ความรุนแรง และยืนยันว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้หารือกับผบ.เหล่าทัพ และมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบปี2553 

เมื่อถามว่าจะล็อกตัวนายสุเทพได้วันไหน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีการล็อกตัว แต่ขอให้นายสุเทพมามอบตัว เพราะตนยึดหลักเจรจาและปฏิบัติตามกฎหมายและตนจะไปเจรจากับนายสุเทพด้วยตัวเอง ส่วนกำลังเเจ้าหน้าที่จะใช้เท่าไรนั้นต้องหารือกันก่อน

เมื่อถามว่านายกฯ มีตำแหน่งอะไรในศรส. ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า "ก็เป็นนายกฯ" 

ด้านพล.ท.ภราดร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯคือพื้นที่เดิมตามประกาศของพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี เฉพาะอ.ลาดหลุมแก้ว สมุทรปราการ เฉพาะอ.บางพลี ระยะเวลาประกาศ 60วัน เริ่มวันที่ 22ม.ค.2557 เป็นต้นไป โดยในส่วนของบุคคลที่รับผิดชอบมีสามส่วนหลัก คือ ผู้รับผิดชอบคือร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผอ.ศรส. ส่วนการสั่งการคือ ผบ.ตร.และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองผอ.ศรส. ใช้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ (เมืองทองธานี)เป็นศูนย์อำนวยการ อย่างไรก็ตามในศรส. ยังมีรัฐมนตรี และผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นกรรมการ เป็นกรรมการ ขณะที่นายสุรพงษ์ จะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้เป็นไปตามสากล  ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยมีตำรวจเป็นเจ้าภาพ นำความสงบกลับมาสู่ประเทศ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ความร่วมมือ เพราะในอารยะประเทศการที่จะมีทหารเป็นหน่วยงานหลักคือการประกาศใช้กฎอัยการศึกเท่านั้น เราจะปรับมาตรฐานประเทศของเราลงมา ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารก็เป็นผู้สนับสนุนจำนวน 40 กองร้อย และตำรวจ 50 กองร้อยเหมือนเดิม

 พล.ท.ภราดร ระบุว่า พ.ร.ก.ตัวนี้ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกกฎกติกาข้อบังคับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารและไม่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม แต่จะเป็นเพียงการควบคุมการขยายพื้นที่ หรือเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนของกลุ่มผู้ชุมนุมนำพามาซึ่งเหตุการณ์ปาระเบิด หรือการยิงกันที่เกิดขึ้น โดยตอนนี้ศูนย์ราชการก็ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทำให้ผู้ที่ต้องการทำหนังสือเดินทางไม่สามารถทำได้ อีกทั้งผู้ชุมนุมก็มีจำนวนลดลง แต่ความรุนแรงกลับมีมากขึ้น จึงถือว่าเป็นปัญหามากที่สุด ตั้งแต่พรุ่งนี้ (วันที่ 22 ม.ค.) พล.ต.อ.อุดลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ศรส. จะเป็นผู้เจรจาและทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม เพราะเมื่อมีการประกาศพ.ร.ก.แล้ว จะมีความผิดเพิ่มมากขึ้น

 “นับตั้งแต่พรุ่งนี้ไป แม้เราจะมีอำนาจหลังจากประกาศใช้พ.ร.ก. แต่เราคงไม่ปิดสื่อ เราเพียงแต่จะไปทำความเข้าใจว่าการนำเสนอในบางเรื่องเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกัน ส่วนการเดินขบวนไปปิดสถานที่ราชการเมื่อออกข้อห้ามแล้วก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าจะมีความผิด ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันนี้ (22 ม.ค.) เป็นต้นไป กฎหมายจะประกาศใช้ เนื่องจากเมื่อช่วงเย็นได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว รอแต่เพียงกฤษฎีกาตรวจเช็คความเรียบร้อยก็ถือว่าเรียบร้อย และหากสถานการณ์คลี่คลายก็สามารถยกเลิกได้ทันที” พล.ท.ภราดร กล่าว  

ก่อนหน้านี้ เวลา 14.00 น. ที่บก.ทบ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) เป็นประธานประชุมศอ.รส.เต็มคณะ มีรัฐมนตรี ตัวแทนเหล่าทัพและหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ในฐานะกำกับดูแลศอ.รส. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวง กลาโหม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์เดช รองผบช.น. ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ไม่ได้เดินทางมาร่วมหารือ โดยส่งพล.ท.อักษรา เกิดผล เสธ.ทบ.เป็นตัวแทน ใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง 

โดยพล.อ.นิพัทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการตัดสินใจประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า "ให้รอครม." 

ที่มา http://www.khaosod.co.th/

เข้าดูมากที่สุด 7 วันที่ผ่านมา